Accessibility help

เมนูหลัก

สวัสดิการสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ

 

 

บทคัดย่อ

          การศึกษาสวัสดิการสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของครอบครัวลักษณะเฉพาะและสวัสดิการที่จัดให้ครอบครัวลักษณะเฉพาะ ความต้องการสวัสดิการสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ และแนวทางการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะซึ่งจะนำไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสวัสดิการในอนาคตระเบียบวิธีการศึกษาประกอบด้วย การสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก การเยี่ยมบ้าน และการสังเกตการณ์บริบทของกรณีศึกษา จำนวน 8 กรณี   ผลการศึกษา พบว่า ปัจจุบันมีความละเอียดอ่อน ความทับซ้อน ความซับซ้อนของ “ครอบครัวลักษณะเฉพาะ”แต่ละประเภท ภาพรวมการจัดบริการสวัสดิการสังคมของครอบครัวลักษณะเฉพาะเป็นบริการแบบแยกส่วนการจัดบริการเป็นรายบุคคลตามกลุ่มเป้าหมาย ขาดการมองคนแบบองค์รวมของครอบครัว บริการเชิงสงเคราะห์ในรูปตัวเงินมากกว่าบริการเชิงป้องกัน ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาครอบครัว    บริการสวัสดิการที่มีอยู่ยังขาดด้านอาชีพและรายได้ ด้านที่อยู่อาศัย และด้านกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะกับครอบครัววัยรุ่นและครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว บริการสวัสดิการที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของครอบครัวลักษณะเฉพาะ แนวทางการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ ได้แก่ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนทางสังคม โดยใช้ฐานคิดบ้าน –วัด-โรงเรียน-ชุมชน.(บวรชน) การใช้กลุ่ม /เครือข่ายครอบครัวลักษณะเฉพาะสนับสนุนซึ่งกันและกัน การบูรณาการและพัฒนากลไกการทำงานของภาคียุทธศาสตร์ ภาคีหลัก ภาคีร่วมด้านครอบครัว โดยให้ประเด็นครอบครัวลักษณะเฉพาะเป็นส่วนหนึ่งของประเด็น“การพัฒนาครอบครัว” ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาครอบครัว จัดวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่น การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ครอบครัวในชุมชน การบูรณาการฐานข้อมูลครอบครัวลักษณะเฉพาะของภาคียุทธศาสตร์ เพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะ การส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของครอบครัวลักษณะเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนด การลดขั้นตอนการให้บริการ
 
 

คำสำคัญ

สวัสดิการครอบครัวลักษณะเฉพาะ ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่มีเด็กพิการและเจ็บป่วยเรื้อรัง และครอบครัวที่ผู้สูงอายุดูแลเด็กตามลำพัง
 

บทนำ

 ครอบครัวลักษณะเฉพาะ 4 ประเภท ได้แก่ ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่มีเด็กพิการและเจ็บป่วยเรื้อรัง และครอบครัวที่ผู้สูงอายุดูแลเด็กตามลำพัง ครอบครัวเหล่านี้อาจจะมีองค์ประกอบและสภาวะของครอบครัวเหมือนหรือแตกต่างจากครอบครัวปกติทั่วไป องค์ประกอบของครอบครัวมีความบกพร่อง บุคคลที่ควรทำหน้าที่หลักของครอบครัวขาดหายไป เหลือแต่สตรีผู้เป็นแม่หรือแม่วัยเยาว์ และผู้สูงอายุต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกหลาน หรือในสภาวการณ์ยุ่งยากซับซ้อนของครอบครัวที่มีเด็กพิการ หรือมีเด็กเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือมีโรคประจำตัว ครอบครัวต้องประสบปัญหา เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต ส่งผลให้สถานภาพครอบครัวดังกล่าวต้องคลอนแคลน ไม่มั่นคง ไม่สามารถทำหน้าที่ตามบทบาทได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ครอบครัวต้องใช้ศักยภาพอย่างมากและพยายามเสริมสร้างศักยภาพสมาชิกของครอบครัวในการฝ่าวิกฤตและปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผ่านพ้นไปได้ ครอบครัวจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและหน้าที่ใหม่เพื่อเตรียมรองรับกับการดูแลลูกหลานในระยะยาว และทำให้ครอบครัวสามารถทำภารกิจหลักของครอบครัว คือ การดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ ความอยู่รอดของบุคคล การขัดเกลาทางสังคม เป็นหน่วยทางสังคม ซึ่ง สดใส คุ้มทรัพย์อนันต์ (2553) ได้แบ่งภารกิจของครอบครัวออกเป็น 3 ด้านหลัก คือ (1) ภารกิจพื้นฐาน (Basic Tasks) คือ เป็นการหาปัจจัยสี่มาให้แก่สมาชิกในครอบครัว (2) ภารกิจพัฒนาการ (Development Tasks) คือ การส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวได้มีพัฒนาการไปตามวัยอย่างเหมาะสมตามขั้นตอนและวงจรของชีวิต และ (3) ภารกิจยามวิกฤติ (Crisis Tasks) คือ การจัดการกับภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในครอบครัว เช่น เกิดการเจ็บป่วย การตกงาน การเสียชีวิต เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ครอบครัวลักษณะเฉพาะตามที่กล่าวมา จึงเป็นอีกหน่วยหนึ่งทางสังคมที่ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือ และได้รับการสนับสนุนทางสังคม
การจัดสวัสดิการสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะในประเทศไทย มุ่งเน้นการบริการด้านการพัฒนา สนับสนุนส่งเสริม คุ้มครองป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูสมมรรถภาพทางสังคมของครอบครัวลักษณะเฉพาะ เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของครอบครัว สร้างเสริมครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง มั่นคงเพียงพอเพื่อให้ครอบครัวสามารถทำหน้าที่ดูแลสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ การจัดสวัสดิการสำหรับครอบครัวดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงการจัดบริการทางสังคมอย่าง เหมาะสม ได้มาตรฐาน ทั่วถึงและเป็นธรรม  
 
 
 
           
 

วัตถุประสงค์การศึกษา

            1.  เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันของครอบครัวและสวัสดิการที่จัดให้ครอบครัวลักษณะเฉพาะ
            2.   เพื่อศึกษาความต้องการสวัสดิการสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ
 

            3.   เพื่อศึกษาแนวทางการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะซึ่งจะนำไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสวัสดิการในอนาคต

 

 
 

ระเบียบวิธีการศึกษา

     การศึกษาในครั้งนี้ ประกอบด้วย การศึกษาทบทวนเอกสารทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ปัญหาความต้องการ สวัสดิการสังคมสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ 4 ประเภท การจัดสนทนากลุ่ม (Focus group) ใน 2 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและสุรินทร์ โดยการสนทนากลุ่ม ลงเยี่ยมบ้านเพื่อสัมภาษณ์เชิงลึกและสังเกตบริบทของกรณีศึกษา จำนวน 8 กรณี   การนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมวิชาการครอบครัวศึกษา ครั้งที่ 3 ประจำปี 2554 และรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอต่อมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว
 

         

 

ผลการศึกษา

 

1. สถานการณ์ปัจจุบันของครอบครัวลักษณะเฉพาะและสวัสดิการที่จัดให้กับครอบครัวลักษณะเฉพาะ

 

          1.1 ความละเอียดอ่อน ความทับซ้อน ความซับซ้อนของ “ครอบครัวลักษณะเฉพาะ”แต่ละประเภท 

                        ผลการศึกษา พบว่า การเป็นครอบครัวเฉพาะมีความละเอียดอ่อน อ่อนไหวง่าย ครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน ถือเป็นตัวอย่างของความซับซ้อนและการเป็นตัวร่วมของครอบครัวไทยที่ยังคงต้องให้ความสำคัญ การให้คุณค่ากับผู้สูงอายุในมุมมองของการใช้ประโยชน์จาก “ความเป็นพ่อ” “ความเป็นแม่” การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุกลับมามีบทบาทหน้าที่ในครอบครัว โดยครอบครัวผู้สูงอายุก็เต็มใจที่จะก้าวเข้าสู่ “บทบาทในอดีต” ดังจะเห็นได้จากครอบครัวของผู้สูงอายุจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งตายาย (ผู้สูงอายุ) ได้นำหลานมาเลี้ยงตั้งแต่แรกคลอด จนหลานเข้าใจว่า ตายายเป็นพ่อแม่ของหลาน จนกระทั่งหลานโตพอที่จะรู้ความจริง จึงได้อธิบายให้หลานเข้าใจและเพื่อนบ้านได้สอนให้หลานเปลี่ยนจากการเรียกตายายว่า “พ่อแม่” มาเรียกใหม่ว่า “ตายาย”
                        การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวไทยในปัจจุบันของครอบครัวลักษณะเฉพาะ เป็นผลพวงสำคัญของการพัฒนาประเทศ ความหลากหลายของครอบครัวทั้ง 4 ลักษณะมีความลื่นไหลระหว่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะครอบครัววัยรุ่นที่แม่มีวุฒิภาวะน้อย จะส่งลูกไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงดูแทน เช่นเดียวกับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว บางรายที่ไม่มีรายได้ จำเป็นต้องพึ่งพาพ่อ/แม่ (ครอบครัวผู้สูงอายุ) ให้มีหน้าที่เลี้ยงหลานต่อไป เนื่องจากตัวเองต้องทำงานหารายได้ ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ หลานจึงถูกส่งกลับไปชนบทเพราะลูกคิดว่า ครอบครัวของผู้สูงอายุสามารถเลี้ยงหลานได้ดีกว่าการจ้างคนอื่นเลี้ยง และสิ่งที่สำคัญคือ ไม่มีเงินค่าจ้างในการเลี้ยงดูเด็กด้วยสำหรับครอบครัวที่มีลูกพิการหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง พ่อแม่จะต้องเลี้ยงดูลูกพิการของตนไปจนแก่เฒ่า ขณะที่ลูกคนอื่นๆที่ไม่พิการก็จะเติบโตและแยกครอบครัวไป ปล่อยให้พ่อแม่แก่เฒ่าและลูกพิการหรือเจ็บป่วยเรื้อรังดูแลกันและกันแต่เพียงลำพังอย่างทุกข์ทรมาน ลูกหลานที่มีครอบครัวอาจแวะเวียนมาหา เอาเงิน ข้าวปลาอาหารมาให้บ้างเป็นบางโอกาส เพื่อนบ้าน คนในชุมชนแวะเวียนมาหา ให้ความช่วยเหลือในยามเดือดร้อน วัดและโรงเรียนในชุมชนสามารถเป็นที่พึ่งทางใจยามทุกข์ร้อน 
                 ข้อสังเกต ครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลานเป็นครอบครัวที่มีความยืดหยุ่น ผู้สูงอายุยอมรับและเข้าใจว่าลูกต้องไปทำงาน ถ้าไม่ทำเขาก็ไม่มีกินกัน เห็นใจเขา เรายังแข็งแรงอยู่ดูแลหลานได้อยู่ก็ดูแลไปก่อน (ดังภาพที่ 1)
 
 

          ภาพที่ 1 ความละเอียดอ่อน ความทับซ้อนของครอบครัวลักษณะเฉพาะ

 

ครอบครัวเดิม เน้นความเป็นครอบครัว ผู้ดูแลหลาน เด็กพิการ ยังเป็นคนในครอบครัว (ปู่-ย่า-ตา-ยาย)

 
 
ครอบครัวสมัยใหม่
(อิสระ เสรีภาพ / ไม่ผูกพัน)
รอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยง ลูก หลาน
ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว
 
 
ครอบครัวที่มีเด็กพิการหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง
 
ครอบครัววัยรุ่น

 

 

 
 
 
 
 
 
 



                       
 

บ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน เป็นแหล่งสนับสนุนทางสังคม

 

 

 

 
 
 
 
 



 

1.2 การปรับตัวทางสังคมของครอบครัวลักษณะเฉพาะ

                        ครอบครัวลักษณะเฉพาะทุกกลุ่มมีปัญหาร่วมที่สอดคล้องตรงกัน คือ ปัญหา        การปรับตัวทางสังคมซึ่งกระบวนการการเข้าสู่ “การเป็นครอบครัวลักษณะเฉพาะ” ของแต่ละกลุ่มอาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่รูปแบบการปรับตัวทางสังคมของครอบครัวลักษณะเฉพาะมีลักษณะใกล้เคียงกัน กลไกการป้องกันตนเองมีตั้งแต่ หนีปัญหา การยอมรับ ต่อสู้เพื่อจัดการปัญหาตนเอง พฤติกรรมการแสดงออกของครอบครัวลักษณะเฉพาะมาจากวิธีการอบรมเลี้ยงดู การอยู่ในครอบครัวอบอุ่นทำให้ครอบครัวสามารถปรับตัวทางสังคมได้ง่ายเพราะมีการสนับสนุนจากผู้สูงอายุ/สมาชิกในครอบครัวให้สามารถเผชิญกับปัญหาในแต่ละช่วงจังหวะชีวิตที่ผ่านเข้ามา
                        กระบวนการการเข้าสู่ “การเป็นครอบครัวลักษณะเฉพาะ” จึงมีจุดแข็ง และจุดอ่อนที่แตกต่างกัน เช่น
 

                        -     ครอบครัววัยรุ่น เป็นครอบครัวที่มีประสบการณ์ชีวิตน้อย แหล่งปรึกษาที่สำคัญของครอบครัววัยรุ่น คือ กลุ่มเพื่อนที่มีลักษณะปัญหาคล้ายๆ กัน ทำให้เกิดแบบแผนการจัดการชีวิต “ลอกเลียนแบบระหว่างกัน” เช่น การปกปิดไม่ให้คนในครอบครัวได้รับรู้ถึง การตั้งครรภ์ การแยกตัวอยู่ตามลำพังภายในบ้าน ครอบครัววัยรุ่นจึงเป็นครอบครัวที่ต้องการ    การประคับประคองจากผู้ใกล้ชิดมากที่สุด แต่ครอบครัววัยรุ่นกลับเห็นว่าครอบครัวขาดความเข้าใจในการใช้ชีวิตของวัยรุ่น มีช่องว่างระหว่างวัย การใช้ชีวิตตามลำพัง ความรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา ซึมเศร้า หากมีมากก็จะนำไปสู่การทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตาย

 

                        -     ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่เข้าใจและยอมรับกับการเป็นแม่/พ่อเลี้ยงเดี่ยวได้จะมีชีวิตอยู่เพื่อการดูแลลูก หากมีการรวมกลุ่มและเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวได้ก็ทำให้ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวมีความเข้มแข็ง เพราะมีเพื่อนหรือพื้นที่ของตนเองชัดเจน นำไปสู่     การสร้างความเข้าใจในปัญหาและมีการช่วยเหลือให้คำแนะนำในปัญหาที่มีอยู่ร่วมกันได้
 

                        -     ครอบครัวเด็กพิการ เมื่อเข้าสู่ระยะของการเป็นครอบครัวเด็กพิการ พ่อหรือแม่เด็กพิการสามารถปรับตัว ปรับตารางเวลา ปรับวิถีชีวิตใหม่ได้ ครอบครัวจะเข้าสู่ระยะของ        การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครอบครัวเด็กพิการถือเป็น “การฟื้นพลังครอบครัวใหม่” (resilience)      มีความเข้มแข็งพร้อมที่จะต่อสู่กับปัญหาโดยเฉพาะการทำให้ลูกพิการสามารถช่วยเหลือตนเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้ระดับหนึ่ง

 

 

                        -     ครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน เป็นครอบครัวที่มีความยืดหยุ่น เข้าใจ ยอมรับ ปรับตัวกับภาวะยากลำบากในชีวิตครอบครัวได้ เนื่องจากมีประสบการณ์ชีวิตในด้าน    การเลี้ยงดูเด็กมาก่อน หากจะต้องมาดูแลหลานก็ยอมรับได้ ไม่คาดหวังอะไรมากจากลูกและหลาน การยอมรับบทบาทหน้าที่ของครอบครัวในการเลี้ยงหลานได้

 

                        คณะผู้วิจัยจึงขอถอดบทเรียนที่ได้จากการศึกษาทั้ง 8 กรณีศึกษาของครอบครัวลักษณะเฉพาะทั้ง 4 ลักษณะ ที่สะท้อนถึงการปรับตัวทางสังคมแตกต่างกันตามประสบการณ์ชีวิต ทักษะชีวิตและสถานภาพครอบครัวเดิมของครอบครัวลักษณะเฉพาะ ความเข้มแข็งของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวในสังคมไทยมีการก่อรู้ชัดเจน แต่สำหรับครอบครัววัยรุ่นยังถือเป็นวัยเตาะแตะที่ยังต้องการการประคับประคองจากสังคม ส่วนครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลานและครอบครัวเด็กพิการถือเป็นครอบครัวที่สังคมรับรู้และมีความเข้าใจกับครอบครัว 2 ลักษณะนี้ (ดังภาพที่ 2)
 

 



 

          ภาพที่ 2 กระบวนการเข้าสู่ “การเป็นครอบครัวลักษณะเฉพาะ” จำแนกตามลักษณะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัววัยรุ่น ครอบครัวเด็กพิการ และครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน

ก่อนเป็นครอบครัวลักษณะเฉพาะ

 
การเข้าสู่ ครอบครัวลักษณะเฉพาะ
การเป็น ครอบครัวลักษณะเฉพาะ
 

ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

 

ครอบครัววัยรุ่น

 

ครอบครัว เด็กพิการ

 

ครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน

- แม่วัยรุ่น (อายุ 18 ปีขึ้นไป)
- มีวุฒิภาวะการดูแลเด็ก
- มีทักษะชีวิตในการจัดการกับปัญหา
 
- แม่วัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี)
- มีวุฒิภาวะน้อยต่อการดูแลเด็ก
- มีทักษะชีวิตในการจัดการปัญหาน้อยหรือไม่มี
 
- แม่วัยทำงาน
- มีวุฒิภาวะการดูแลเด็กพิการ
- การพาลูกพิการตระเวนรับการรักษาทุกแห่ง
 
- ผู้สูงอายุ (มีอายุมาก/มีปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว)
- มีวุฒิภาวะการดูแลเด็ก
- มีประสบการณ์การเลี้ยงดู
 
- การสูญเสียคุณค่าของตนเอง
- ขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตตามลำพัง
- รู้สึกเครียด วิตกกังวล
- อยากฆ่าตัวตาย
 
- ครอบครัวถูกตำหนิติเตียนว่าเลี้ยงลูกไม่ดี
- ขาดโอกาสในชีวิต (ออกโรงเรียนกลางคัน
 
- ไม่ยอมรับความพิการของบุตร
- ขาดการใช้ชีวิตในสังคม/นอกบ้าน
- รู้สึกเครียด วิตกกังวล อาย
- เริ่มทำใจ ยอมรับความพิการของลูก
 
- ไม่กล้าปฏิเสธลูก
- ขาดการใช้ชีวิตในสังคม/นอกบ้าน
- รู้สึกมีความยากลำบาก
- ทำใจยอมรับหลานเป็นสมาชิกในครอบครัว
 

- ระมัดระวังกับการมีชีวิตครอบครัว เช่น ไม่อยากมีครอบครัวใหม่ กลัวมีปัญหาซ้ำ/กลัวผู้ชายไม่ยอมรับ

- ค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดูเด็ก
 
- ครอบครัวแต่ละฝ่ายไม่ยอมรับ/ไม่จดทะเบียน ชีวิตครอบครัวไม่มั่นคง)
- ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก
 
- มีปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว (หย่าร้าง/แยกกันอยู่/ทอดทิ้ง/ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี)
- ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กสูง
 
- มีปัญหาสุขภาพของตนเอง
- ไม่มีอาชีพ/รายได้
- ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก
- ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูหลาน
 

 



 

1.2 สวัสดิการลักษณะเฉพาะที่จัดให้กับครอบครัวลักษณะเฉพาะ

 

                   1) การบริการสวัสดิการสังคมเป็นบริการแบบแยกส่วน แบ่งพื้นที่ผู้รับผิดชอบ ตามนโยบายและโครงสร้างการบริหารงานของภาครัฐ

                        บริการสวัสดิการสังคมถือเป็นการจัดสวัสดิการโดยรัฐเป็นหลักในรูปแบบของสถาบัน (Institutional Model) มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบตามประเภท/สาขาของการจัดบริการสวัสดิการสังคม เช่น บริการการศึกษา กระทรวงการศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลัก บริการสุขภาพอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลัก บริการการมีงานทำและรายได้ กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพหลัก บริการที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ/สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นเจ้าภาพหลัก บริการทางสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพหลัก ฯลฯ วิธีคิดแบบแยกส่วนที่มีอยู่นี้มีการ กำหนดพื้นที่ หน่วยงานและบุคคลรับผิดชอบชัดเจน จึงทำให้บริการที่จัดให้กับครอบครัวลักษณะเฉพาะเป็นบริการแบบแยกส่วนตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ
 

                   2) การจัดบริการเป็นรายบุคคล (Individual Service) ตามกลุ่มเป้าหมายขาด    การมองคนแบบองค์รวมของครอบครัว

 

              บริการสวัสดิการสังคมของครอบครัวลักษณะเฉพาะ เป็นการจัดบริการเป็นรายบุคคลตามแนวคิดตะวันตก มิติการมองคนแบบกลุ่มเป้าหมาย (Target Group) แยกคนออกมาจากครอบครัว ขาดมุมมองของการมองคนแบบองค์รวมในมิติครอบครัว กล่าวคือ กลุ่มเป้าหมายใน    การให้บริการแบ่งเป็น (1) เด็ก/เยาวชน (2) คนพิการ (3) สตรี (4) ผู้ด้อยโอกาส (5) ผู้สูงอายุ    เป็นต้น บริการจึงมุ่งตอบโจทย์แบบการให้บริการโดยตรงกับกลุ่มเป้าหมาย(Direct Services)     ขาดการเชื่อมโยงของคนในมิติครอบครัว ดังจะเห็นได้จาก บริการสวัสดิการสังคมที่ได้กล่าวมาข้างต้น ได้แก่ สวัสดิการเด็ก สวัสดิการคนพิการ สวัสดิการผู้สูงอายุ เป็นบริการที่มุ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก ขาดมิติของการใช้ครอบครัวและชุมชนเป็นรากฐานในการจัดสวัสดิการกับครอบครัวลักษณะเฉพาะ

 

 

                  3) บริการเชิงสงเคราะห์ในรูปตัวเงินมากกว่าบริการเชิงป้องกัน ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาครอบครัว

                  บริการสวัสดิการสังคมทั้ง 7 ประเภทกับครอบครัวลักษณะเฉพาะ หากพิจารณาบริการภาพรวม พบว่า เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ได้รับบริการทั้ง 7 ประการตามกฎหมายแต่ละฉบับ ได้แก่ เด็ก (พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546) แต่บริการเชิงป้องกัน ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาในเชิงครอบครัวยังน้อยมาก ประกอบกับปัจจุบันปัญหาของครอบครัวมีความวิกฤต ความรุนแรงเพิ่มขึ้น บริการสวัสดิการสังคมในเชิงสงเคราะห์จึงไม่สามารถตอบสนองให้กลุ่มเป้าหมายระยะยาวได้ หากบริการไม่เชื่อมโยงกับการเสริมพลังครอบครัวให้เข้ามีบทบาทร่วมกันกับภาครัฐ
                  ข้อสังเกต คือ บริการสวัสดิการสังคมครอบครัวเด็กพิการ ครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน เป็นครอบครัวที่มีบริการส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครองสวัสดิภาพ ขณะที่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเป็นครอบครัวที่เติบโตและมีเครือข่ายบริการจากครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเป็นหลัก บริการของรัฐยังสามารถตอบสนองกับครอบครัวลักษณะนี้ได้มากนัก ขณะที่ครอบครัววัยรุ่นเป็นทั้งครอบครัวที่ยังไม่มีบริการสวัสดิการสังคมรองรับโดยตรงมีเพียงบริการบ้านพักชั่วคราว ดังนั้น บริการหลักของครอบครัววัยรุ่น จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นจริงเป็นจัง
 

               4) ภาพรวมการจัดบริการสวัสดิการสังคมของครอบครัวลักษณะเฉพาะยังขาดด้านอาชีพและรายได้ ด้านที่อยู่อาศัยและด้านกระบวนการยุติธรรมของครอบครัววัยรุ่นและครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

 

              ภาพรวมการจัดบริการสวัสดิการสังคมของครอบครัวลักษณะเฉพาะยังขาดด้านอาชีพและรายได้ ด้านที่อยู่อาศัย และด้านกระบวนการยุติธรรมของครอบครัววัยรุ่นและครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว      แม้บริการจัดที่อยู่อาศัยจะมีให้สำหรับครอบครัวทั้งสองลักษณะนี้    แต่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของครอบครัว เพราะครอบครัวยังต้องการอยู่กับครอบครัวเดิมมากกว่าออกไปใช้บริการทางสังคมจากภายนอก      บริการการสนับสนุนทางสังคม เช่น การให้กำลังใจ   การให้การแนะนำปรึกษาจากสมาชิกในครอบครัว เครือญาติ เพื่อนบ้าน   คนในชุมชนยังมีความสำคัญมาก เพราะครอบครัวไทยมีฐานความสัมพันธ์กันภายในมากกว่าการพึ่งพาจากภายนอก   บริการสวัสดิการสังคมยังขาดการจัดบริการแบบองค์รวม   จึงส่งผลให้บริการดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงมิติชีวิตของครอบครัวลักษณะเฉพาะ  บริการของรัฐจึงเป็นบริการที่แปลกแยกจากครอบครัวลักษณะเฉพาะๆ จึงเห็นว่า “ บริการของรัฐเป็นบริการที่จะใช้เมื่อจำเป็น   ครอบครัวต้องดูแลและช่วยเหลือตนเองก่อน   ไม่อยากคาดหวังบริการของรัฐ “

 

                  บริการสวัสดิการสังคมสำหรับครอบครัวพิการและครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลานที่เป็นบริการที่ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายให้ความสำคัญและรู้จักกันดี คือ บริการสวัสดิการเบี้ยยังชีพคนพิการและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท แต่ยังขาดบริการการคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุนทางสังคมด้านอื่นๆตามกฎหมาย    ครอบครัวลักษณะเฉพาะขาดการรับรู้ ขาดความเข้าใจ และเข้าไม่ถึงบริการสวัสดิการสังคมเพราะไม่รู้ว่าจะไปติดต่อขอความช่วยเหลือจากใครหน่วยงานไหน ส่วนหนึ่งเกิดจากข้อจำกัดของครอบครัวที่ต้องดูแลเด็ก วิถีชีวิตจึงอยู่ภายในบ้านมากกว่านอกบ้าน หากไม่มีบริการมาถึงบ้านถึงชุมชน ก็ไม่สามารถไปรับความช่วยเหลือ สิทธิสวัสดิการสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะจึงเป็นเรื่องไกลตัว   ยากที่จะเข้าถึง 
 
 

2. ความต้องการสวัสดิการสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ

          ผลการศึกษาความต้องการจัดสวัสดิการสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ พบว่า
 

          2.1 ความไม่มั่นคงของอาชีพและรายได้

 

                  ความยากลำบากของครอบครัวลักษณะเฉพาะส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านการมีอาชีพที่แตกต่างไปจากคนทั่วไป เรื่องอาชีพที่ครอบครัวลักษณะพิเศษต้องการ คือ อาชีพอิสระ การทำงานที่บ้าน( Home Workers )และมีตลาดรองรับที่จะทำให้เกิดรายได้ชัดเจน เพียงพอต่อการนำมาใช้จ่ายในครอบครัว      แต่เนื่องจากบริการของรัฐที่จัดให้มีเพียงบริการสนับสนุนเงินทุนด้านการประกอบอาชีพ เช่น เงินกู้ยืมประกอบอาชีพ ครอบครัวลักษณะเฉพาะส่วนหนึ่งต้องเปลี่ยนลักษณะงานเดิม เช่น ครอบครัวเด็กพิการบางรายที่แม่เคยทำงานสำนักงาน แต่เมื่อครอบครัวมีสมาชิกเป็นเด็กพิการ ลักษณะงานใหม่ที่ทำจำเป็นต้องเป็นเพียงงานอาชีพเสริม แต่งานหลักเป็นการดูแลเด็กพิการ (ครอบครัวเด็กพิการ) การดูแลลูก (ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว) การดูแลหลาน (ครอบครัวผู้สูงอายุ) การดูแลเด็กในครรภ์แม่วัยรุ่น (คอบครัวแม่วัยรุ่น)

 

                  - สถานภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง มีผลต่ออาชีพและรายได้ของครอบรัวลักษณะเฉพาะ ความต้องการจ้างงานลักษณะเฉพาะ จำเป็นต้องเข้าใจบริบทและสภาพแวดล้อมของครอบครัวลักษณะเฉพาะ ข้อสังเกต คือ ครอบครัวลักษณะเฉพาะมีปัญหาร่วมกัน คือ ขาดรายได้ หรือไม่มีรายได้แน่นอน ขณะที่ครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลานเป็นการใช้ประโยชน์จาก “ความเป็นผู้สูงอายุ” จึงทำให้นายจ้างเอาเปรียบผู้สูงอายุที่ยากลำบาก โดยให้รายได้รายวันที่น้อยกว่าหนุ่มสาว ผู้สูงอายุก็ไม่กล้าเรียกร้องมาก เพราะไม่อยากมีปัญหา “กลัวเขาไม่จ้างงาน”(ดังตารางที่ 1)
 

                            

 

          ตารางที่ 1 ความไม่มั่นคงของอาชีพและรายได้ของครอบครัวลักษณะเฉพาะแต่ละประเภท

 
 

ประเด็น

 

ครอบครัวลักษณะเฉพาะ

 

ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว

 

ครอบครัววัยรุ่น

 

ครอบรัวเด็กพิการและเจ็บป่วยเรื้อรัง

 

ครอบครัวผู้สูงอายุ

 

ปัญหา

1. การจ้างงาน
นายจ้างไม่อยากจ้าง เนื่องจากเกรงว่าจะทำงานไม่เต็มที่ ขาด/ลาบ่อย
ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากตั้งครรภ์
มีผู้ทำงานเพียงคนเดียว
ไม่แน่นอนเป็นงานชั่วคราว
2. อาชีพ
อาชีพที่ทำไม่เหมาะสม ช่วงเย็นต้องมีภาระรับลูกแต่ยังไม่เลิกงาน
ไม่มีงานรองรับที่เหมาะสม
ไม่มีงานรองรับที่เหมาะสม
เกษตรกร
รับจ้างทั่วไป
3. รายได้
ขาดรายได้ที่เพียงพอ เนื่องจากต้องรับภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวทั้งหมด
ไม่มีรายได้ต้องพึ่งพาครอบครัวเดิม หากตั้งครรภ์ก็จะส่งผลกระทบต่อเด็กในครรภ์
รายได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากมีหลายครอบครัวอยู่ในบ้านเดียวกัน
รายได้ไม่แน่นอน
รายได้น้อยเพราะอายุมาก
รายจ่าย
มีรายจ่ายในการเลี้ยงดูลูก
-อยู่ในความดูแลของครอบครัวเดิม
-มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดู เช่น ใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภค ค่านม แพมเพริส ฯลฯ
มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเดินทางไปรับบริการละค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเด็กพิการ เช่น ค่าแพมเพริส ค่านม และสิ่งของจำเป็น ฯลฯ
-รายจ่ายประจำวันสำหรับเด็กไปโรงเรียน
-ค่าอาหารกลางวัน
ความต้องการความมั่นคงทางอาชีพและรายได้
-การจ้างงานอิสระ เช่น ซักรีด เย็บผ้า ฯลฯ
-เพื่อให้สามารถดูลูกได้
มีงานทำและมีรายได้ที่สามารถนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงลูกได้
อาชีพเสริมที่อยู่กับบ้าน เพื่อให้สามารถดูลูกพิการหรือเจ็บป่วยเรื้อรังได้
เงินทุนสนับสนุนให้ครอบครัวของฝ่ายหญิงที่ต้องดูแลลูกเองได้
                       
 

                        2.2 การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ

                  ปัญหาที่สำคัญของครอบครัวลักษณะเฉพาะอีกประการหนึ่ง คือ การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ โดยมีเหตุผลดังนี้
                  ก. ขาดหลักฐานรับรองสถานะบุคคล
                        การขาดหลักฐานรับรองสถานะบุคคล ได้แก่ ใบสูจิบัตร (ใบเกิด) ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น ครอบครัววัยรุ่น พ่อและแม่ตัวจริงไม่ได้แจ้งเป็นพ่อแม่เด็กแต่กลับใช้ชื่อยาย (แม่ของแม่วัยรุ่น) ตา (พ่อเลี้ยงของแม่วัยรุ่น) ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการใช้สิทธิสวัสดิการเมื่อเด็กโตขึ้น เช่นเดียวกับครอบครัวเด็กพิการซึ่งเด็กพิการไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการคนพิการตามกฎหมายและนโยบายจดทะเบียนคนพิการของรัฐบาลในปี 2552 จึงทำให้ครอบครัวลักษณะเฉพาะไม่ได้รับความสนใจและความสำคัญเท่าที่ควร ขณะที่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสและ/หรือทะเบียนหย่า ยกเว้นบางครอบครัวที่มีฐานะดี อาจมีปัญหาฟ้องร้องทางกฎหมายหากอีกฝ่ายไม่ยอมหย่าให้ ยกเว้นครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน พบว่า ผู้สูงอายุได้รับสิทธิสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือนจากการใช้บัตรประชาชนที่แสดงสถานะบุคคลเป็นคนไทยซึ่งมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์
 

              ข. ขาดข้อมูลการใช้สิทธิสวัสดิการหรือบริการทางสังคม

 

                        ครอบครัวลักษณะเฉพาะทุกกลุ่มมีปัญหาร่วมกัน คือ ขาดข้อมูลการใช้สวัสดิการหรือบริการทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลานตามลำพัง     หากไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้านก็จะทำให้ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารและทำให้ขาดโอกาสการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ส่วนครอบครัวเด็กพิการขาดข้อมูลการดูแลเด็กพิการเบื้องต้น หากไม่ได้รับการดูแลตั้งแต่ความพิการน้อยก็จะส่งผลให้มีความพิการมากขึ้นและกลายเป็นความพิการถาวรที่ยากต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพในระยะยาวได้ รวมทั้งครอบครัวต้องการข้อมูลการดูแลเด็กพิการเบื้องต้น ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น เช่น ทุนประกอบอาชีพ ทุนการศึกษา บริการให้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหา บริการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็กพิการเบื้องต้น เป็นต้น

 

 

              ค. ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ

                        ผลการศึกษา พบว่า ทัศนคติหรือมุมมองของสังคมไทย/คนทั่วไปยังให้ความสำคัญเชิงอำนาจกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ชายจึงเป็นผู้กระทำ (Actor) ต่อผู้หญิง ฝ่ายชายจึงไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อมีปัญหาครอบครัว แต่ปล่อยให้เป็นภาระของผู้หญิงต่อการเลี้ยงดูเด็กพิการ เด็กปกติ ครอบครัวลักษณะเฉพาะ ได้สะท้อนภาพความไม่เท่าเทียมกันทางเพศระหว่างชายกับหญิง ฝ่ายหญิงเมื่อมีปัญหาจะถูกครอบครัวตำหนิ เช่น ครอบครัววัยรุ่น ผู้หญิงจึงถูกกระทำซ้ำทั้งจากฝ่ายชายที่ทอดทิ้งและครอบครัวทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่ยอมรับผู้หญิง เช่นเดียวกับครอบครัวเด็กพิการที่ผู้หญิงจะต้องรับบทหนักทั้งการดูแลเด็กพิการ การทำงานนอกบ้าน
 

              ง.   ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการ

                   ผลการศึกษา พบว่า ครอบครัวลักษณะเฉพาะยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างจำกัด ส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิสวัสดิการเฉพาะ สิทธิสวัสดิการคนพิการ 500 บาทต่อเดือน และสิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุ 500 บาทต่อเดือนเช่นกัน แต่บริการทางสังคมอื่นๆ ที่ระบุไว้ในกฎหมายกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ยังไม่รู้
 

              จ. การประชาสัมพันธ์ข่าวสารสิทธิสวัสดิการ

                        ครอบครัววัยรุ่นและครอบครัวที่มีลูกพิการหรือเจ็บป่วยเรื้อรังเป็นครอบครัวที่พบว่า การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการส่วนหนึ่งมาจากรัฐขาดการประชาสัมพันธ์ข่าวสารหรือมีการประชาสัมพันธ์แต่ยังไม่ทั่วถึงเพียงพอเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการให้กับกลุ่มเป้าหมาย
 

              ฉ. ความต้องการการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ

                        การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิสวัสดิการหรือบริการทางสังคม การประชาสัมพันธ์ข่าวสารสิทธิสวัสดิการมีความจำเป็นต่อการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  ได้นิยามความหมายของเด็กที่ครอบคลุมทั้งเด็กปกติ เด็กพิการ เด็กในภาวะยากลำบาก (ครอบครัวยากจน) ควรได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพและการพัฒนาโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่เน้นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทุกประเภท การส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์สิ่งอำนวยความสะดวก การจัดบริการสาธารณะสำหรับคนพิการ และ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เน้นการส่งเสริม คุ้มครองผู้สูงอายุ แต่เนื่องจากครอบครัวลักษณะเฉพาะขาดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ส่งผลให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสวัสดิการที่รัฐได้จัดให้ (ตารางที่ 2)
 
 

ตารางที่ 2 การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการของครอบครัวลักษณะเฉพาะแต่ละประเภท

 
 

ประเด็นปัญหา/ความต้องการ

 

ครอบครัว

 

วัยรุ่น

 

ครอบครัว

 

เลี้ยงเดี่ยว

 

ครอบครัว

 

เด็กพิการและเจ็บเรื้อรัง

 

ครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน

 

1. ปัญหา

-ขาดหลักฐานะรองรับสถานะบุคคล
 
- ยังไม่มีบัตรประชาชน (อายุน้อยกว่า 15 ปี)
- การแจ้งเกิดโดยใช้บิดา/มารดา (ตา/ยาย) เป็นพ่อแม่แทน
 
- ไม่ได้จดทะเบียน
- เลิก/แยกกันอยู่ บางรายที่มีฐานะดีอาจมีปัญหาการฟ้องร้องทางกฎหมายได้
 
- เด็กพิการไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน จึงทำให้ขาดสิทธิสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด
 
-
- ขาดข้อมูลการใช้สวัสดิการหรือบริการทางสังคม
- ขาดข้อมูลการใช้บริการทางสังคม เช่น บริการการให้การปรึกษา การเตรียมตัว การปรับตัวกับการดูแลเด็ก
- ขาดข้อมูลการใช้สวัสดิการหรือบริการทางสังคมต่างๆ เช่น ทุนประกอบอาชีพ ทุนการศึกษาสำหรับบุตร
- ขาดข้อมูลการดูแลเด็กพิการเบื้องต้น เพราะไม่รู้ว่าต้องรักษาพยาบาลที่ไหน อย่างไร
- ไม่ได้รับข่าวสาร เนื่องจากต้องเลี้ยงหลานตามลำพัง และไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน
- ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ (มิติหญิงชาย)
- ฝ่ายชายไม่รับผิดชอบเป็นพ่อของเด็ก
- ฝ่ายหญิงเมื่อตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะยุติการเรียน เช่น พักการเรียน ลาออกและไม่ได้กลับไปเรียนต่อ
- ฝ่ายชายกินเหล้า เมา กลัวถูกทำร้ายร่างกาย และมีเมียน้อย
- ฝ่ายหญิงมีครอบครัวใหม่ (สามีฝรั่ง) จึงขอเลิกกับฝ่ายชาย
- ฝ่ายชายขอเลิก/แยกครอบคัวไป
- ฝ่ายหญิงทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเด็กพิการหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง
- ผู้สูงอายุหญิงทำหน้าที่เลี้ยงหลาน เนื่องจากเห็นว่าลูกต้องทำงาน ไม่มีผู้ดูแลเด็ก อยากช่วยเหลือลูก แม่ชีวิตจะลำบาก แต่ก็ส่งสารหลาน
- ขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการ
- ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการด้านต่างๆ ทั้งของตนเอง บุตร และครอบครัว
 
-
- ขาดความรู้ในการดูแลเด็กพิการหรือเจ็บป่วยเรื้อรัง
 
-
-รัฐขาดการประชาสัมพันธ์ข่าวสารสิทธิสวัสดิการหรือมีการประชาสัมพันธ์แต่ยังไม่ทั่วถึงเพียงพอเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการให้กับกลุ่มเป้าหมาย
- ขาดการประชาสัมพันธ์ข่าวสารเรื่องสิทธิสวัสดิการต่างๆ อย่างเพียงพอและทั่วถึง
 
-
มีการประชาสัมพันธ์แต่ยังไม่ทั่วถึงเพียงพอเกี่ยวกับสิทธิสวัสดิการให้กับกลุ่มเป้าหมาย
-
 
-
 

2. ความต้องการการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ

- ข้อมูลข่าวสารและความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบริการทางสังคมและสิทธิสวัสดิการต่างๆ อย่างเพียงพอและทั่วถึง
- ข้อมูลข่าวสารการใช้สิทธิสวัสดิการต่างๆ เช่น ทุนประกอบอาชีพ ทุนการศึกษาของบุตร
- การเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์ในสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สวนสาธารณะห้างสรรพสินค้าที่จอดรถสำหรับคนพิการ การศึกษา
- การประชาสัมพันธ์ข่าวสารการได้รับสิทธิสวัสดิการของผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน เพื่อให้ผู้สูงอายุเลี้ยงหลานสามารถเข้าถึงบริการทางสังคมตามที่กฎหมายกำหนด
                    
 

                   2.3  การช่วยเหลือด้านกฎหมาย

                                 ครอบครัวลักษณะเฉพาะบางกลุ่ม เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวและครอบครัววัยรุ่นมีปัญหาร่วมกัน คือ กรณีที่ฝ่ายชายไม่รับผิดชอบเลี้ยงดูลูกหรือเด็กพิการ เนื่องจากกฎหมายยังไม่ได้มีการเอาผิดกับฝ่ายชาย ในกรณีที่ไม่รับผิดชอบฝ่ายหญิงจนทำให้ฝ่ายหญิงต้องตกอยู่ในสภาวะของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวไปโดยปริยาย ฝ่ายหญิงจึงขาดช่องทางการช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยเฉพาะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวบางรายยังมีปัญหาการฟ้องร้องหย่า เนื่องจากฝ่ายชายไม่ยอมหย่าแต่กลับไปมีครอบครัวใหม่ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวบางรายจึงมีปัญหาการจัดการด้านทรัพย์สินซึ่งหนี้สินเกิดขึ้นจากการฟ้องร้องดำเนินคดีกับฝ่ายชาย
                                 ข้อจำกัดของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว คือ แม่เด็กขาดความรู้ ความเข้าใจต่อ         การฟ้องร้องทางกฎหมาย ไม่ทราบขั้นตอน ขาดผู้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือด้านกฎหมาย
                                 ครอบครัวแม่วัยรุ่น เป็นฝ่ายเสียเปรียบไม่สามารถเอาผิดกับฝ่ายชายได้ เช่น ครอบครัววัยรุ่น กรณีแม่วัยรุ่นจังหวัดสุรินทร์ที่ฝ่ายชายเป็นข้าราชการครูไม่ยอมรับเลี้ยงดูเด็ก แม่วัยรุ่นต้องการเอาผิดกับพ่อเด็ก แต่ไม่รู้ว่าจะต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดด้านกฎหมาย ส่งผลให้แม่วัยรุ่นต้องรับภาระการเลี้ยงดูบุตรตามลำพัง แม่วัยรุ่นต้องการเพียงเงินค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 2,000 บาท แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากต้องดูแลบุตรทั้ง 2 คน แม่วัยรุ่นจึงไม่คิดที่จะกลับไปเรียนต่อ เพราะต้องการทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงบุตร
                                 ขณะที่ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว มีปัญหาการฟ้องหย่าและภาระหนี้สินในช่วง การสมรส ฝ่ายชายไม่รับผิดชอบ ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของแม่เลี้ยงเดี่ยวมีความยากลำบาก
 

                          ความต้องการการช่วยเหลือด้านกฎหมาย

                             ครอบครัวลักษณะเฉพาะมีปัญหาหลายด้านรุมเร้า ปัญหาหลัก คือ ปัญหาด้านรายได้ แม่เลี้ยงเดี่ยวและแม่วัยรุ่นส่วนใหญ่เข้าใจว่าการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ชายเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะตนเองไม่มีเงินจ้างทนายความ ไม่รู้ว่าจะติดต่อขอความช่วยเหลือจากบริการของรัฐได้ที่ไหนกับใคร รวมทั้งคนในครอบครัวก็ไม่ได้สนับสนุนให้มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวและครอบครัววัยรุ่น จึงให้ความสำคัญด้านนี้น้อย ยกเว้นบางรายที่มีปัญหาด้านทรัพย์สินและมรดกที่จะต้องแบ่งกันตามกฎหมายให้ถูกต้อง บริการการช่วยเหลือด้านกฎหมายจึงเป็นบริการจำเป็นสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ
 
 
 
 



 

ความต้องการของครอบครัวลักษณะเฉพาะต่อการปรับตัวทางสังคม

 

          1) ทัศนคติ/มุมมองเชิงบวกที่เข้าใจปัญหาของครอบครัวลักษณะเฉพาะ

              ครอบครัววัยรุ่นและครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเป็นครอบครัวที่มีความหวั่นไหว ละเอียดอ่อน ต้องการความเข้าใจในเรื่องราวชีวิตของตนเอง ไม่ต้องการคำพิพากษาตัดสินของคนในชุมชน เพื่อนบ้านและครอบครัว เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากการพูดคุยกันโดยไม่ให้ครอบครัวลักษณะเฉพาะได้มีโอกาสสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างกัน เช่น ครอบครัววัยรุ่น กรณีแม่วัยรุ่นจังหวัดสุรินทร์ ที่มีความไม่สบายใจเวลาออกนอกบ้าน เพราะได้ยินคนอื่นพูถึงตนเองในลักษณะที่ไม่ดี แม่วัยรุ่นจึงอยากอยู่ในบ้านมากกว่าออกนอกบ้าน
                  ครอบครัวเด็กพิการ ครอบครัวไม่กล้านำเด็กพิการออกข้างนอก ไม่รู้จะตอบคนอื่นอย่างไร เป็นต้น
 

            2) การสนับสนุนทางสังคมผ่านครอบครัวของเด็ก

                  ครอบครัวลักษณะเฉพาะเห็นว่า การสนับสนุนบริการทางเลือกที่ตรงกับความต้องการของครอบครัว เช่น
                  - ครอบครัววัยรุ่น ต้องการการสนับสนุนทางการศึกษาที่ตรงกับความสนใจ / ความพร้อม แต่ไม่ใช่การเรียนในระบบเดิม เช่น จัดให้เฉพาะกลุ่มแม่วัยรุ่น การเรียนด้านอาชีพเพื่อส่งเสริมการมีรายได้มาเลี้ยงลูกไม่เป็นภาระของครอบครัวเดิม
 

                  - ครอบครัวเด็กพิการ ต้องการกลุ่มสนับสนุน (Group Support) เพื่อให้ครอบครัวดูแลกัน เนื่องจากฐานคิดของครอบครัวเด็กพิการที่น่าสนใจ คือ ความเชื่อที่ว่า “ไม่มีใครสามารถเลี้ยงลูกและเข้าใจลูกของตนเองได้มากเท่ากับครอบครัว”  เช่นเดียวกับกับความเชื่อของครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่เชื่อว่า “ลูกเรา เราก็อยากเลี้ยงเอง ไม่อยากเอาลูกไปฝากเลี้ยง แต่ถ้าฝากเลี้ยงชั่วคราว เมื่อจำเป็นก็จะดี”

                  - ครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน ต้องการความช่วยเหลือเป็นครั้งคราวจากเครือญาติ เพื่อนบ้านและชุมชนยามเดือดร้อน
 
 

3. แนวทางการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ

            ผลการศึกษาจากเวทีการสนทนากลุ่มย่อยแลกรณีศึกษา 8 กรณี มีข้อเสนอต่อแนวทางการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ ดังนี้
 

            3.1 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนทางสังคม

                  ตามแนวคิด บวร (บ้าน-วัด-โรงเรียน) ร่วมกับ บวช. (บ้าน-วัด-ชุมชน) เป็นการบูรณาการแนวคิดที่ใช้ครอบครัว (บ้าน) เป็นฐานหลักร่วมกับวัด-โรงเรียน-ชุมชนเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครได้มีการทำงานเชื่อมโยงบูรณาการงาน-คน-เงิน และภูมิปัญญาเข้าด้วยกัน จึงจะทำให้การจัดสวัสดิการสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะได้รับโอกาสการดูแลอย่างทั่วถึง เป็นธรรมตามความเป็นจริงของแต่ละลักษณะของครอบครัว (ดังภาพที่ 3)
 
 

            ภาพที่ 3 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนทางสังคม

                 

บ้าน (ครอบครัว)

 
วัด
โบสถ์
มัสยิด
โรงเรียน
คณะกรรม การสถานศึกษา
นักเรียน/เยาวชน
ครู
ชุมชน
ท้องถิ่น
อปพร.
อพมก.
อสม.
อพม.
จิตอาสา
อาสา
สมัคร

 

 
            3.2 วิธีการจัดสวัสดิการสังคมครอบครัวลักษณะเฉพาะ ควรสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมาย (ครอบครัวลักษณะเฉพาะ) มีการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายครอบครัวในชุมชน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพราะครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว/ครอบครัววัยรุ่น/ครอบครัวเด็กพิการและครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลาน ต่างก็เป็นคนในชุมชนและอาจมีการซ้อนทับระหว่างกันได้ เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวกับครอบครัววัยรุ่น ครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลานกับครอบครัวเด็กพิการ หรือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวกับครอบครัวเด็กพิการ หรือครอบครัวผู้สูงอายุเลี้ยงหลานกับครอบครัววัยรุ่น ครอบครัวลักษณะเฉพาะมิได้หมายถึงเฉพาะครอบครัวลักษณะเชิงเดี่ยวแต่มีมิติที่ซับซ้อน ทับซ้อนระหว่างกัน
            3.3 การใช้กลไกการทำงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.)           เป็นเครื่องมือการทำงานเพื่อนำไปสู่การค้นหารูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมที่ตรงกับความต้องการของครอบครัวลักษณะเฉพาะ เนื่องจากคณะกรรมการของ ศพค. ส่วนหนึ่งมาจากหัวหน้าคุ้ม ป๊อก โซน (ตัวแทนคุ้ม ป๊อก โซน 1 คน : การดูแล 10-15 ครอบครัว) ซึ่งเป็นกลไกของรัฐแต่ต้องมีการขับเคลื่อน ศพค.ให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้เกิดผลลัพธ์ได้ตามเป้าหมาย
            3.4 การส่งเสริมให้ครอบครัวในชุมชนได้ทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน การทำให้ครอบครัวในชุมชนมีกิจกรรมด้านครอบครัว เพื่อทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานร่วมกัน รวมทั้งการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมครอบครัวอย่างต่อเนื่องของชุมชน
            3.5 การส่งเสริมให้กองทุนสวัสดิการชุมชนมีการจัดสวัสดิการกับครอบครัวลักษณะเฉพาะในชุมชน ปัจจุบันองค์กรชุมชนได้มีการขึ้นทะเบียนการเป็นองค์กรชุมชน และองค์กรสวัสดิการชุมชนเป็นองค์กรประเภทหนึ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมให้โครงการ/กิจกรรมจากกองทุนสวัสดิการสังคม ซึ่งการขึ้นทะเบียนรับรององค์กรทั้ง 2 ลักษณะ จะส่งผลให้ชุมชนสามารถจัดสวัสดิการกับครอบครัวลักษณะเฉพาะได้อีกช่องทางหนึ่ง
            3.6 การส่งเสริมการสนับสนุนทางสังคมจากคนภายในชุมชน เครือญาติ ต่อการดูแลครอบครัวลักษณะเฉพาะ
            3.7 การสนับสนุนและพัฒนากลไกการทำงานระดับท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐให้มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดบริการสวัสดิการครอบครัวลักษณะเฉพาะอย่างต่อเนื่องในเชิงการพัฒนาศักยภาพการดูแลเด็กในครอบครัว การเสริมทักษะการครองเรือนกับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว (ที่อาจจะมีครอบครัวใหม่) ครอบครัววัยรุ่น การให้การปรึกษาด้านครอบครัวศึกษาตั้งแต่การเลือกคู่ครอง การใช้ชีวิตคู่ และการใช้ชีวิตหลังแต่งงาน
            3.8 การจัดทำฐานข้อมูลด้านครอบครัว รวมทั้งครอบครัวลักษณะเฉพาะ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์การจัดสวัสดิการครอบครัวที่เหมาะสม รวมทั้งการผลักดันให้มีการนำฐานข้อมูลไปพัฒนาเป็นนโยบาย/แผนงาน/แผนพัฒนา/แผนปฏิบัติการประจำปี/โครงการ/กิจกรรมครอบครัวลักษณะเฉพาะ โดยใช้กลไกของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนทำหน้าที่ของ การสะท้อนภาพของครอบครัว/ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อสร้างฐานการทำงานจากระดับตำบล ชุมชนในลักษณะ 3 ขา (ประกอบด้วย รัฐ-ท้องถิ่น-ประชาชนในชุมชน) เน้นกระบวนการทำงานร่วมกัน
            3.9 การจัดตั้ง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ครอบครัวระดับจังหวัด (กยคจ.) ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเพื่อนำเสนอนโยบายและติดตามการทำงานด้านครอบครัวภายในจังหวัดโดยบูรณาการความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          3.10 การศึกษาและพัฒนางานวิจัยด้านครอบครัวลักษณะเฉพาะ ในประเด็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว และนำผลที่ได้ไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ครอบครัวระดับจังหวัดในการสร้างครอบครัวเข้มแข็ง
            3.11 การกำหนดให้ทุกตำบลจัดเวทีเรียนรู้ สนับสนุนให้มีการบูรณาการการทำงาน มีเครือข่ายการทำงานที่เชื่อมโยงกัน โดยนำประเด็น “ครอบครัว” เป็นแกนหลักในการทำงานที่เชื่อมโยงกับประเด็นการทำงานยุทธศาสตร์ของจังหวัด
            3.12    การผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านครอบครัวได้มีการจัดเวทีการสร้างแนวทางการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับครอบครัวลักษณะเฉพาะ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
ด้านสุขภาพ
กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม
ด้านการมีงานทำ/รายได้
กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กทม. องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ด้านนันทนาการ
กทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ด้านที่อยู่อาศัย
การเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บริษัทธุรกิจเอกชนด้านอสังหาริมทรัพย์
ด้านบริการสังคม
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ด้านกระบวนการยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
 
            3.13    การบูรณาการและพัฒนากลไกการทำงานของภาคียุทธศาสตร์ ภาคีหลัก ภาคีร่วมด้านครอบครัว โดยครอบครัวลักษณะเฉพาะเป็นส่วนหนึ่งของประเด็น “การพัฒนาครอบครัว” ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาครอบครัว จัดวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เช่น การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ครอบครัวในชุมชน การบูรณาการฐานข้อมูลครอบครัวลักษณะเฉพาะของภาคียุทธศาสตร์ เพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะ การส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของครอบครัวลักษณะเฉพาะตามที่กฎหมายกำหนด การลดขั้นตอนการให้บริการหรือลดการสร้างปัญหา เช่น การเดินเอกสาร การส่งต่อ ฯลฯ การจัดทำรายงานสถานการณ์ครอบครัวลักษณะเฉพาะเป็นรายจังหวัดและในระดับประเทศ