Accessibility help

เมนูหลัก

โรงเรียนทางเลือก รอยยิ้ม จินตนาการและความเป็นมนุษย์

โรงเรียนทางเลือก รอยยิ้ม จินตนาการและความเป็นมนุษย์

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน จากพ่อแม่ผู้ปกครอง กลุ่มหนึ่งไม่มั่นใจในระบบการศึกษา จึงเบนหัวเรือมาเลือกโรงเรียนทางเลือก ที่มีแนวการเรียนการสอนแปลกและแหวกแนวไปจากหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นท่องจำเนื้อหาตามตำรา จนวันนี้สามารถพูดได้ว่าโรงเรียนทางเลือกได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีโรงเรียนแนวนี้ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด คำถามที่ค้างคาใจ ทำไมโรงเรียนทางเลือกจึงได้รับการตอบรับจากพ่อแม่รุ่นใหม่อย่างรวดเร็ว แน่นอนเราต้องตามไปค้นหาคำตอบ ด้วยการตามไปสอบถามพร้อมแอบดูวิธีการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือก 3 แห่ง คือ โรงเรียนวรรณสว่างจิต โรงเรียนดรุณสิกขาลัย และโรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อให้เห็นกับตา ได้ยินกับหูว่าดีอย่างไร วรรณสว่างจิต เรียนรู้ผ่านของจริง ไม่มีเด็กนักเรียน หรือครูคนไหนในชั่วโมงเรียนนี้นั่งท่อง ก- ฮ อยู่ในห้องเรียน มีแต่เสียงเจื้อยแจ้ว หัวร่อต่อกระซิกที่ดังแว่วมาจากใต้ร่มไม้ในชั่วโมงเรียนวิชาบูรณาการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชั้นเรียนที่นี่ อาจารย์นลินี มัคคสมัน ผู้อำนวยการโรงเรียนวรรณสว่างจิต บอกพร้อมรอยยิ้มว่า ระบบการจัดการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ แผนกเด็กเล็ก (ก่อนเข้าอนุบาล 2-3 ขวบ) แผนกอนุบาล และแผนกประถม ทางด้านเด็กเล็กนั้น โรงเรียนใช้แนวคิดทฤษฎีของวอร์ดอร์ฟ ทฤษฎีทางการศึกษาที่เน้นเรื่องจิตวิญญาณด้านความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้มองการ ศึกษาแยกออกมาจากชีวิต หากมองว่าชีวิตทุกอย่างในโลกสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งเดียวทางธรรมชาติ ซึ่งคล้ายทฤษฎีแนวพุทธที่มุ่งเน้นไปที่จิตใจ ความดีงาม เน้นสมาธิ การจดจ่อของเด็กในการทำงาน โดยใช้ศิลปะเป็นตัวนำ เรียนรู้ธรรมชาติและที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ ห้วงเวลา 1 วันที่เด็กๆ ใช้ชีวิตในโรงเรียน ทุกคนจะมีความเป็นอิสระ พูดคุยกับเด็กช่วงก่อนเข้าเรียน เปลี่ยนคาบ หรือตอนเย็น มีการจัดของเล่นที่เป็นของจากธรรมชาติ ไม่ซับซ้อน เช่น ผ้าย้อมสีจากธรรมชาติ บล็อกจากไม้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กต้องจินตนาการกับของเล่นเยอะเพราะเด็กวัย 2 ขวบจินตนาการสูง ครูผู้สอนจึงเล่านิทานให้เด็กฟังเพื่อให้เด็กจินตนาการตาม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทำอาหาร ให้ครูเป็นคนทำแต่เด็กช่วย เช่น ปั้นแป้ง ร่อนแป้ง อบ พอสุกก็รับประทานกัน มีการให้ปลูกข้าวหน้าห้อง เด็กเห็นขั้นตอน ตั้งแต่การหว่าน งอก ออกรวง เก็บจากรวงทำอาหาร มีการจับต้องได้สัมผัสของจริง สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กได้เห็นที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น รู้ว่าอาหารต้องผ่านการลงมือทำ ข้าวต้องปลูกจึงจะได้กิน เด็กจึงเกิดความผูกพันกับธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ให้เด็กซึมเข้าไปในจิตใจและเด็กจะเห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ เรียกว่า "ทฤษฎีวอร์ดอร์ฟ" จะช่วยให้เด็กมีสมาธิขึ้น กลับมาอยู่กับปัจจุบันไม่ตกเป็น เด็กในยุครีโมต ที่มีสมาธิสั้นขึ้นทุกวันๆ สำหรับตัวแปรสำคัญคือ ครูจะต้องคำนึงว่าเด็กนั้นเรียนรู้จากแบบอย่างของผู้ใหญ่ ไม่ได้รู้จากการบอก การสั่ง ครูเหมือนเป็นแม่แบบ เมื่อครูสงบเด็กก็สงบ เมื่อครูวุ่นวายเด็กก็วุ่นวาย บทบาทของครูก็จะเหมือนแม่เลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน รวมทั้งในแต่ละเทอมก็จะมีการวางแผนการสอนล่วงหน้า จัดกิจกรรมที่ทำซ้ำสม่ำเสมอ เป็นเวลาแน่นอนจนทำให้เกิดวินัยไม่ใช่เกิดจากการบังคับของผู้ใหญ่ ส่วนชั้นอนุบาลเด็กจะเริ่มโตขึ้น การเรียนการสอนก็จะต้องมีการปรับให้เป็นแบบผสมผสาน นอกจากจะเรียนรู้ธรรมชาติแล้ว ก็มีเรื่องของ co-languag คือเรียนภาษาแบบธรรมชาติ กับการสอนแบบโปรเจกต์ แอพโพรช ซึ่งก็คือการสอนแบบโครงการเหมือนกับกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ สำหรับ co-language เป็นการสร้างให้เด็กรักการอ่านเขียน เราไม่ได้หวังว่า เมื่อเด็กจบอนุบาล 3 เขาจะอ่านได้เขียนได้ แต่เตรียมความพร้อมเพื่อการอ่านเขียนในชั้นประถม และสร้างทัศนคติที่ดีต่อภาษาให้เด็ก ให้เห็นว่าภาษามีความสำคัญเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน นำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น ในห้องเรียนจึงมีแต่นิทานไม่มีตำราเรียน สร้างสภาพแวดล้อมให้เห็นว่าภาษาเป็นสิ่งมีประโยชน์ "อยากเขียนอะไรก็เขียนได้ไม่มีผิดถูก เราไม่ให้เริ่มจากให้เขาเรียน กอ. ไก่ ขอ. ไข่ แต่เริ่มจากชื่อของเขา เอง เขาสามารถที่จะเก็บของถูกที่ หยิบจับถูก ซึ่งถ้าอ่านออกก็จะทำถูก ถ้าให้เขาเริ่มจากการฟัง พูด อ่านและเขียน เด็กก็จะเกลียดภาษาตั้งแต่ต้น ในคาบภาษาไทยจึงไม่มีการคัดลายมือ แต่เน้นวาดรูป ภาพถือเป็นภาษาหนึ่งที่บันทึกความคิดออกมา และเป็นเรื่องที่เด็กๆ ทุกคนทำได้ บางภาพอาจดูไม่รู้เรื่อง แต่เขาสามารถเล่าอธิบายได้ ครูมักจะพาเด็กๆ ออกข้างนอกห้องเรียน ศึกษาสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่น วันนี้ดอกไม้ตูม พรุ่งนี้ดอกไม้บานแล้ว พวกเขาได้เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง" ส่วนโครงการวิทยาศาสตร์ จะเน้นที่กระบวนการคิดแก้ปัญหา โดยเริ่มจากเรื่องที่เด็กสนใจ อยากรู้ ตั้งสมมติฐาน เช่น เจอลูกอ๊อด เด็กก็สงสัยว่าโตขึ้นลูกอ๊อดจะเป็นอะไร ครูก็ถามต่อว่าหนูคิดว่าโตขึ้นมันจะเป็นอะไร บางคนบอกเป็นแมว เป็นกบ เป็นหมา ครูจดบันทึก แล้วให้เด็กทดลองเลี้ยงดู ให้เขาได้คำตอบด้วยตัวเอง ครูจะคอยกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยการจดบันทึกข้อมูลจากนั้นก็จะเฉลยในสิ่งที่เด็กคิดว่าใช่หรือไม่ สำหรับในชั้นประถมศึกษาเพิ่งเปิดเมื่อปี 2544 โดยใช้หลักสูตรใหม่ของกระทรวงที่ประกาศใช้ในปี 2545 แต่เราทำก่อนล่วงหน้า ซึ่งโรงเรียนสามารถสร้างเนื้อหาหลักสูตร เน้นบูรณาการ ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ พร้อมกับเปิดเรียน 3 เทอม เทอมหนึ่งๆ จะเรียน 3 เรื่องใหญ่ อาจารย์นลินี ยกตัวอย่าง ชั้นประถมต้นก็จะเรียนเรื่องเกี่ยวกับตัวเราเป็นหลัก แต่ละชั้นก็มีความละเอียด กว้าง ลึกต่างกัน และบูรณาการทุกวิชาเข้ามาในนี้ เช่นรู้จักอวัยวะก็ให้นับจำนวนด้วย เช่น วิชาคณิตศาสตร์ เรามีขา 2 ข้าง มีจมูก 1 อัน ก็จะเรียนเรื่องเลขเดี่ยว เลขคู่ หรือการเรียนเรื่องเกี่ยวกับชุมชน 1 ก็ให้เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว และกว้างขึ้นๆ ในชั้นที่สูงขึ้น "เราไม่ใช้หนังสือตำราเรียน แต่ให้เด็กค้นคว้าในห้องสมุดไม่เน้นเนื้อหา แต่เน้นกระบวนการเรียนรู้ถ้าเราอยากรู้เรื่องหนึ่งๆ จะหาคำตอบได้อย่างไร เช่น จากห้องสมุดบ้าง คุยกับชุมชนบ้าง หรืออาจถามผู้ปกครอง พอเรียนจบก็ต้องนำเสนอหน้าชั้นเรียนเพื่อถ่ายทอดและจัดระบบความคิดและทบทวน สิ่งที่เข้าใจ น่าตกใจที่เด็กสามารถแสดงผลงานออกมาเป็นโมเดลได้ เด็กจะได้สร้างเองคิดเอง มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบและรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม วิธีการเรียนการสอนลักษณะนี้ทำให้เด็กไม่กลัวการทำงาน กล้าคิดกล้าทำ ชอบค้นคว้า มีความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกันนี้ เราติดตามผลพัฒนาการของเด็กครูจะทำหน้าที่บันทึกเด็กรายบุคคล แล้วส่งข่าวสารถึงผู้ปกครองทุกสัปดาห์ "ผู้ปกครองที่นำลูกมาเรียนกับเรามีทั้งที่พอใจและยังสงสัย กังวลใจตลอดเวลา กับภาพการเรียนการสอนที่แปลก การบ้านก็น้อย เดินทั้งวันแล้วก็ปลูกต้นไม้ ซึ่งเด็กข้างบ้านการบ้านเยอะ ก็ห่วงว่าลูกจะสู้ลูกคนอื่นไม่ได้ เด็กจบไปจะมีที่เรียนดีๆ ไหม เด็กจะอยู่ร่วมกับสังคมได้ไหม เรื่องเหล่านี้เราไม่กังวลเรามั่นใจว่าเด็กทำได้ แต่ผู้ปกครองกลัวไปเอง และขณะนี้มีโรงเรียนทางเลือกหลายแห่งเปิดระดับมัธยม" ส่วนค่าเล่าเรียน ตกอยู่ที่เทอมละ 17,000-18,000 บาทโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มอีก ทำไมส่งลูกมาเรียนทางเลือก? ชลธิชา ประถมบุตร แม่น้องเฟริน ซึ่งเรียนอยู่อนุบาล 2 เล่าว่า โรงเรียนสไตล์นี้เน้นที่ตัวเด็กแต่ละคน ซึ่งมีลักษณะ บุคลิก เอกลักษณ์ต่างกัน ทั้งนี้ สาเหตุที่ส่งมาเรียนเพราะอยากให้ลูกเป็นเด็กฉลาดร่าเริงสมกับวัยของเขา ไม่ต้องเครียดมาก ได้เรียนได้เล่นในสิ่งที่เขาชอบเขาต้องการ เด็กควรได้รับการพัฒนาความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่เน้นวิชาการ อ่านออกเขียนได้ "เรื่องความรู้พี่สอนเขาเองได้ พี่พร้อมเสมอสำหรับลูกเชื่อว่าต่อไปลูกจะเป็นเด็กที่ดีมีความรับผิดชอบ หลังเลิกเรียนก็ไปรับลูก ระหว่างนั่งรถลูกจะเล่าว่าวันนี้เรียนเรื่องอะไรบ้าง ครูเล่านิทานเรื่องอะไร และทุกวันพุธ ทางโรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองมาพูดคุย บอกว่าโรงเรียนสอนอะไร ทำกิจกรรมอะไรบ้างและให้ผู้ปกครองเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับน้องๆ "ชลธิชาแจกแจงพร้อมอธิบายว่า ผู้ปกครองคนใดมีแนวคิดส่งลูกเรียนโรงเรียนทางเลือกจะต้องมีเวลาร่วมกิจกรรม กับลูกด้วย ส่วน น้องไวน์ ด.ญ.เลิศค่า ณ นครพนม น้องยีนส์ ด.ญ.ณัชชา จิระศักดิ์พิศาล น้องนีม ด.ญ.อชิตา บินกำซัน นักเรียน ป.4 บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงเรียนของเราสนุกทั้งเรียนและเล่นที่โรงเรียนนี้ไม่เหมือนโรงเรียนอื่น ซึ่งเพื่อนๆ แถวบ้านมักจะนำมาพูดคุยเปรียบเทียบกัน เช่น ครูไม่ดุ การบ้านไม่เยอะ ได้มีชั่วโมงคุยเล่นกับเพื่อน ได้ทัศนศึกษาบ่อยๆ แต่ก็ต้องรู้จักทำความสะอาดดูแลห้องเรียน ล้างจานข้าว หุงข้าวกันเอง น้องๆ ทั้ง 3 คนยืนยันว่าชอบมาก ไม่อยากจบจากโรงเรียนนี้ ดรุณสิกขาลัย เรียนผ่านสิ่งใกล้ตัว จากวรรณสว่างจิตก็ไปที่อีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งต้องบอกว่า มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศทีเดียว นั่นก็คือ ร.ร.ดรุณสิกขาลัย ที่มี พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นผู้อำนวยการ พารณให้ข้อมูลว่า ดรุณสิกขาลัยต่างจากแห่งอื่นๆ เนื่องจากใช้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเรียนผ่านโครงงานต่างๆ ที่ครูและนักเรียนร่วมกันคิดว่า ตลอดหนึ่งสัปดาห์หรือภายในหนึ่งเดือนว่าจะเรียนเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นครูจะมาวางแผนว่าสิ่งที่เด็กต้องการเรียนนั้นควรอยู่ช่วงวัน เวลาใดถึงจะเหมาะสม "เราไม่ได้จัดบรรยายภาพเหมือนชั้นเรียนปกติทั่วไปจะมีโต๊ะเก้าอี้ให้ เด็กนั่งเรียนอยู่ในชั้นเรียน แต่เราจัดให้เด็กอายุไล่เลี่ยกันเรียนเรื่องเดียวกัน เพื่อให้พี่สอนน้อง ดูแลน้อง ขณะเดียวกันให้สิทธิเด็กมาแลกเปลี่ยนความรู้กันตั้งแต่ก่อนจะลงมือทำโครงงาน คือให้เด็กไปค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลต่างๆ อย่างหนังสือในห้องสมุด อินเทอร์เน็ต สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญจากสถานที่จริงๆ ส่วนครูมีหน้าที่อำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และชี้แนะเด็ก" ยกตัวอย่างโครงการพิซซ่า โรงเรียนจะให้เด็กค้นคว้าแล้วมาสรุปก่อนทำว่าต้องใช้อะไรบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นเด็กจะแบ่งหน้าที่กันเองว่าใครจะเป็นคนไปซื้อของที่ตลาดสดหรือซู เปอร์มาร์เกตขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเด็ก "ผมเกือบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่าเด็กวัยไม่เกิน 10 ขวบสามารถทำพิซซ่าถาดพิเศษที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร มีทั้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน โดยใส่ปลาทูน่า อาหารทะเล หมู เนื้อ ผัก ซึ่งไม่เหมือนยี่ห้อดังที่คนมักจะสั่งมารับประทานกัน" พารณ เล่าว่า เด็กๆ อธิบายว่าพิซซ่าของพวกเขาไม่ใช่อาหารขยะที่กินให้อิ่มท้อง แต่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องเพราะมีการทดสอบทางขบวนการวิทยาศาสตร์ว่า พิซซ่า 1 ชิ้น มีไขมัน โปรตีน แป้ง วิตามิน จำนวนเท่าไหร่ "วิธีการเรียนจากของจริง โดยเด็กลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ระหว่างทำเด็กจะรู้สึกสนุกซึมซับความรู้โดยไม่รู้ตัว พอทำเสร็จแล้วเด็กจะช่วยกันชิมว่ารสชาติอร่อยมั้ย บกพร่องตรงไหน เผื่อทำถาดต่อไปจะได้รสชาติถูกปาก ประการสำคัญเด็กๆ รู้จักการทำงานเป็นทีมเวิร์ก ช่วยกันคนละไม้คนละมือ" ทั้งนี้ โรงเรียนไม่ได้ให้เด็กนั่งทำอาหารเพียงอย่างเดียว ยังพาเด็กไปเรียนรู้นอกสถานที่ด้วย อย่างที่บ้านควาย จังหวัดสุพรรณบุรี ท้องฟ้าจำลอง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สวนผีเสื้อ เป็นต้น "ทางโรงเรียนไม่ได้ให้เด็กไปเดินดูแล้วจดข้อความที่สถานที่นั้นๆ ติดไว้นะ เพียงแต่ก่อนที่จะออกไปเปิดหูเปิดตาเรียนเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่ง จะให้เด็กค้นข้อมูลก่อน ยกตัวอย่าง สวนผีเสื้อ เด็กสามารถแยกแยะว่า ผีเสื้อลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่าอะไร รู้เรื่องวงจรชีวิต และจากความชอบส่งผลให้เด็กบางคนทำแฟ้มผีเสื้อขึ้น ไว้เป็นพอร์ตของตัวเอง "ระบบการเรียนการสอนของที่นี่ไม่มีการสั่ง เด็กต้องเรียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะเราคิดว่าการบังคับให้เด็กทำ เรื่องที่สั่งเด็กอาจไม่ชอบ เด็กอาจมีปฏิกิริยาต่อต้าน เราจึงเลือกวิธีที่ว่าเด็กอยากเรียนรู้เรื่องอะไรให้เสนอเข้ามาแล้วโรงเรียน จัดให้ เชื่อว่าเด็กจะเรียนอย่างมีความสุข สนุก แล้วจำเรื่องที่เรียนได้อย่างแม่นยำ" ปีละแสนแปดหมื่นบาท ด้วยความที่การเรียนรู้ผ่านของจริงมีต้นทุนสูง ทางดรุณสิกขาลัยจึงเก็บค่าเล่าเรียนในลักษณะเหมาจ่ายปีละ 1.8 แสนบาท เพื่อนำมาเป็นค่าพาเด็กออกไปเรียนรู้ตามสถานที่ต่างๆ อุปกรณ์การเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม เงินที่ผู้ปกครองจ่ายนั้นยังไม่เพียงพอ ทางโรงเรียนยังต้องจ่ายให้อีกคนละแสนต่อปี และปัจจุบันดรุณสิกขาลัยมีนักเรียน 40 คน ดังนั้น ทางโรงเรียนจึงต้องจ่ายเพิ่มประมาณ 4 ล้านบาท "เรายอมจ่าย เพราะต้องการผลิตเด็กสายพันธุ์ใหม่ ขึ้นมาเป็นกำลังและมันสมองของประเทศ ผมว่าคุ้ม เพราะเด็กกลุ่มนี้จะเป็นนักคิด สร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้น ชาติต้องการเด็กอย่างนี้ขึ้นมาเป็นผู้นำ หรือทำงานในระดับแถวหน้า ไม่ใช่คิดจะเลียนแบบต่างชาติเหมือนทุกวันนี้หรือที่ผ่านมา อย่างเป็นเวนิสตะวันออก แค่คิดก็เดินตามแล้ว" "บ้านเราไม่ค่อยมีใครกล้าคิดออกนอกกรอบ ไม่ค่อยกล้าลงทุน แต่ดรุณสิกขาลัย คิดออกนอกกรอบระบบการศึกษาไทย เพราะไม่อยากเห็นเด็กนั่งอยู่ในห้อง กางตำราเรียนอยู่บนโต๊ะแล้วนั่งท่องตำรับตำรากันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพียงเพื่อเป้าหมายเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำ ขณะที่ของเราเรียนสบาย แต่มั่นใจว่าเด็กมีความสามารถสอบเข้าที่ไหนก็ได้ นอกจากนี้ยังนำความรู้ที่สั่งสมตั้งแต่เด็กมาประกอบอาชีพได้เหมือนกัน" พารณสรุปเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า พูดไปตอนนี้หลายคนคงมองไม่เห็นภาพ เพราะเพิ่งเปิดการเรียนการสอนอยู่แค่ป. 4 คงต้องรอผลอีก 15 หรือ 20 ปีว่าเด็กกลุ่มนี้มีบทบาทอะไรบ้างในสังคม รุ่งอรุณ ศึกษาตามธรรมชาติ ปิดท้ายกันที่ "ร.ร.รุ่งอรุณ"... ประภาภัทร นิยม ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ บอกว่า รุ่งอรุณเป็นโรงเรียนทางเลือกแห่งแรกๆ ที่หาแนวทางการ เรียนการสอนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเด็กและสังคมไทย เป็นการเรียนการสอนที่อยู่ในวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อม จะเทียบ กับโรงเรียนอื่นๆ คงยาก บางโรงเรียนมีข้อดีของตน ส่วนมากโรงเรียนจะใช้สิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวนักเรียนเป็นสถานที่ เรียนรู้ อย่างเรียนเรื่อง ดอกไม้ จะให้นักเรียนบอกว่าเขารู้จักต้นไม้อะไรบ้าง มีสีอะไรบ้าง ลักษณะอย่างไร ซึ่งเป็นการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับสี วิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังนำดอกไม้มาใช้เรียนคณิตศาสตร์ได้อีกด้วย อย่างเช่นมีดอกกุหลาบ 10 ดอก ให้เพื่อน 2 คน คนแรก 1 ดอก คนที่สอง 3 ดอก จะเหลือดอกกุหลาบกี่ดอก "การเรียนผ่านสถานที่จริง หรือไม่ก็สร้างสถานการณ์จำลองขึ้นเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ได้สัมผัสด้วย ตนเอง วิธีการเรียนการสอนลักษณะนี้จะช่วยให้เด็กจดจำได้อย่างแม่นยำกว่าการสอนแบบ ให้เด็กท่องจำเนื้อหา" สำหรับค่าเล่าเรียน โรงเรียนทางเลือกคงไม่ต่างกับแห่งอื่นมากนัก ถ้าระดับอนุบาล1-3 เทอมละ 21,000 บาท ป.1-6 เทอมละ 28,000 บาท และระดับมัธยม 1-6 เทอมละ 31,000 บาท ค่าแรกเข้า 48,000 บาท ทั้งนี้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนปีละ 3 เทอม …ผู้ปกครองต้องการให้ลูกเรียนโรงเรียนทางเลือก อยากให้ดูหลายแห่งแล้วเปรียบเทียบวิธีการเรียนการสอน สถานที่ตั้ง ที่สำคัญอย่าลืมคำนวณค่าเทอมต่อปีด้วยว่าต้องจ่ายเท่าไหร่