Accessibility help

เมนูหลัก

1 หญิง 2 ชาย ใต้หลังคาเดียวกัน

1 หญิง 2 ชาย ใต้หลังคาเดียวกัน

 

 
เขียน  นีรชา คัมภิรานนท์

            “เรื่องเล่าครอบครัว” วันนี้มีกรณีศึกษารูปแบบชีวิตครอบครัวแปลกใหม่ ที่อย่าว่าแต่สังคมไทยที่ไม่คุ้นเคย นานาอารยประเทศก็คงมีส่วนน้อยมากที่จะยอมรับเป็นเรื่องธรรมดาสามัญได้ นั่นคือกรณีการอยู่ร่วมบ้านกันของ 3 คนผัวเมีย ที่ประกอบไปด้วย 1 หญิง 2 ชาย หนำซ้ำครอบครัวนี้ยังมีลูกร่วมกันด้วยอีก 1 คน ครอบครัวของ ไจย่า (ภรรยา)  จอห์น (สามีที่1)  และเอียน (สามีที่ 2) ลองอ่านเรื่องราวของครอบครัวนี้ และคำอธิบายจาก นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล จิตแพทย์และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. กันค่ะ

                เรื่องเริ่มต้นจากไจย่า ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านเพศศึกษาและนักเขียน วัย 34 ปี เธอพบรักกับ จอห์น สามีคนแรกซึ่งเป็นครูสอนโยคะ เมื่อเจอกันทั้งสองก็ตกหลุมรัก เหมือนมีอะไรดึงดูดกันและกัน แต่ขณะนั้นไจย่าไม่ได้เป็นโสด เธอหมั้นอยู่กับคู่หมั้นหนุ่มที่ชื่อว่า โทนี่  ที่ต้องเลิกราไปในที่สุดเพราะเขารับไม่ได้ที่ไจย่านอกใจ จากนั้นไจย่าก็มาอยู่กับจอห์น  ทั้งสองใช้ชีวิตคู่กันอย่างดี  อยู่ด้วยกันมา 7 ปี ไจย่าเกิดก็เกิดไปปิ๊งหนุ่มอีกคนหนึ่ง  ซึ่งอายุน้อยกว่าเธอ จอห์นเองก็ไม่ขัดข้อง ยินดีให้หนุ่มคนนั้นย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านร่วมกัน แต่รักครั้งนี้จบลงในเวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือน เพราะเจ้าหนุ่มคนนั้นไปนอนกับผู้หญิงอื่นลับหลังไจย่า จึงต้องเลิกกันไป เรื่องนี้ทำให้จอห์นรู้สึกผิดที่ปล่อยให้ไจย่าอกหักและซึมเศร้า เขารู้สึกว่า ไจย่าต้องการใครอีกสักคนหนึ่งมาทำให้เธอสดชื่น และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับเขาสดชื่นขึ้นด้วย จอห์นเลยให้ไจย่าลองไปออกเดทกับหนุ่มคนอื่นดู  

               จนกระทั่งไจย่าได้มาพบกับเอียน นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในชั้นเรียนเต้นที่เธอสมัครเรียน  แม้ไจย่าจะบอกเขาตรงๆ ว่า “ฉันมีคนรักอยู่แล้ว”  แต่เอียนก็ยอมรับได้  เอียนกับจอห์นจึงมาทำความรู้จักกัน  ...  

               1 ปีต่อมาไจย่าก็ตั้งท้องกับเอียน เพราะตลอดมาจอห์นไม่พร้อมจะมีลูก แต่จอห์นเองก็มีความสุขด้วยที่ไจย่าได้ในสิ่งที่เธอต้องการ ในที่สุดไจย่าก็คลอดลูกชาย โดยมีสามี 2 คนคอยดูแลให้กำลังใจ จอห์นเป็นคนตัดสายสะดือให้กับเด็กด้วยตัวเอง เด็กคนนี้ชื่อว่าอีมอน ทั้ง 3 คนช่วยกันเลี้ยงดูเขา โดยอีมอนจะเรียกจอห์นว่า ปั๊บป้าจอห์น แล้วเรียกเอียนว่า แดดด้าเอียน  ปัจจุบันทั้ง 4 ก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

 

มุมมอง “จิตแพทย์”
นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล

ครอบครัวนี้ ผิดปกติหรือไม่?’

                 “หลักง่ายๆ ที่เราจะดูว่าผิดปกติไหม คือดูที่ความสามารถในการปรับตัวในการดำเนินชีวิต ยกตัวอย่าง สมัยก่อนเราบอกว่าเกย์ผิดปกติ แต่สมัยนี้ถ้าเขามีความสุข แล้วเขามีคู่ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ยินยอมพร้อมใจ ก็ไม่ผิดปกติ แต่ถ้าเป็นอะไรก็ตามแล้วข้างในมันยังมีความทุกข์ใจอยู่ หรือในกรณีไจย่า ขาดคนอื่นไม่ได้ อยู่ด้วยตัวเองไม่เป็น ก็ถือเป็นความผิดปกติ แต่เนื่องจากเราไม่มีข้อมูลว่า จริงๆ แล้วเขาอยู่ได้ไหม เรารู้เพียงเขาอยู่กับหลายคนเท่านั้น”

 

เป็นปัญหาหรือไม่ต้องตั้งคำถามถึง ผลกระทบที่เกิดขึ้น

              “ผลกระทบ
3 ด้านที่ต้องดูคือ ผลกระทบต่อสังคม  ผลกระทบต่อตัวเด็ก และผลกระทบต่อ 3 คนนี้เอง ว่าเกิดอะไรขึ้น  ผลกระทบต่อสังคม ในสังคมอเมริกันเขาต่างคนต่างอยู่ เขาก็คงถือว่าในเมื่อคุณอยู่ได้แล้วก็เรื่องของคุณ แต่ผมก็เชื่อว่าคงมีกลุ่มอนุรักษ์นิยมอาจจะออกมาต่อต้าน ซึ่งเกิดได้ทุกที่  ผลกระทบต่อเด็ก โดยเนื้อของมันจะอยู่ที่บรรยากาศทางอารมณ์ของคนที่อยู่ในบ้านเป็นหลัก กับความสามารถที่เด็กจะมีความสัมพันธ์ที่ดี อยู่ในที่ที่เขารู้สึกปลอดภัยและได้รับความรัก ซึ่งนั่นก็อยู่ที่รายละเอียดว่า 3 คนเขาอยู่กันอย่างไร ผลกระทบต่อ 3 คน ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า คนเราไม่ว่าจะอยู่เป็นโสดหรือว่าจะแต่งงาน ทุกอย่างมันควรจะทำเพื่อพัฒนาตัวเราและจิตใจของเรา ยกระดับให้มันสูงขึ้น เพราะฉะนั้นชีวิตคู่มันมีบทเรียนของมันอยู่ มันมีความผิดหวัง สมหวังอยู่ในนั้น แล้วมันก็ทำให้เรามีวุฒิภาวะ มีความเข้าใจในชีวิตมากขึ้น แต่นึกภาพไม่ออกว่าอยู่กัน 3 คน จะเรียนรู้และพัฒนาจิตใจไปในเส้นทางไหน เพราะมันเริ่มต้นจากความพอใจส่วนตัว  จึงต้องตั้งคำถาม 3 ข้อนี้”

 

ธรรมเนียมแหวกได้ แต่เสี่ยงเจ็บ

                “ผมคิดว่ากรณีนี้เป็นภาพสะท้อนอีกเอย่างหนึ่งของความพยายามจะทดลองก้าวข้ามธรรมเนียมปฏิบัติของการอยู่ในสังคม ซึ่งแต่ก่อนนี้ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ มันสร้างขึ้นเพื่อให้สังคมและครอบครัวอยู่ได้ แต่มันมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งคือ ผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียเปรียบในทุกสังคม ในการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ธรรมเนียมปฏิบัติหลายๆ อย่าง รวมถึงเรื่องครอบครัวมันเสื่อมลง ก็เลยทำให้คนคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ ให้กับตัวเอง คิดว่าอันนี้มันใช่แล้ว มันตอลบสนองความต้องการของฉัน แต่มันไม่มีโอกาสเอาภูมิปัญญาที่สั่งสมมาของรุ่นปู่ย่าตายายมาใช้แล้ว เพราะมันเป็นการคิดค้นใหม่ มันจึงเสียเปรียบตรงไม่ได้ใช้บทเรียนที่สั่งสมมาของบรรพชนมาใช้ แต่มันก็เป็นการเปิดพรมแดนใหม่ เป็นการหารูปแบบใหม่ๆ ซึ่งคนที่ก้าวข้ามไปหารูปแบบใหม่ๆ แน่นอนว่ามีโอกาสเจ็บ มีโอกาสผิดได้มากกว่า เราก็ต้องเลือกนะครับว่าจะเลือกแบบไหน ก็นั่งดูด้วยความเข้าใจ ถ้าเราอยู่ในกรอบเดิมเราก็ได้ใช้ภูมิปัญญาเดิมให้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราทิ้งกรอบเดิมไปเราก็ต้องรับความเสี่ยงและเจอปัญหาที่อาจจะคิดไม่ถึง ก็ต้องเลือกและคิดให้รอบคอบ”

               

                “ต้องเลือกและคิดให้รอบคอบ” คือบทสรุปที่เราจะเดินทางไปบนโลกที่นับวันจะเริ่มสับสนปรวนแปร เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ทำให้เราได้ตกอกตกใจกันได้ไม่เว้นแต่ละวัน สุดท้ายครอบครัวของเราขอให้ตั้งสติกันไว้ให้มั่น ครองคู่ครองครัวยึดมั่นคุณธรรมศีลธรรมไว้ประจำตัวประจำใจกันทุกคนทุกบ้านนะคะ

 

ที่มา  รายการวิทยุครอบครัวคุยกัน  FM 105 MHz. จันทร์-ศุกร์ เวลา 20.30-22.00 น.

 

 

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

  • ที่อยู่เว็บและอีเมลจะเปลี่ยนเป็นลิงก์ให้อัตโนมัติ
  • Allowed HTML tags: <a> <em> <strong> <cite> <code> <ul> <ol> <li> <dl> <dt> <dd>
  • ขึ้นบรรทัดและจัดย่อหน้าให้อัตโนมัติ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งค่ารูปแบบอินพุต