Accessibility help

เมนูหลัก

“ไม่พอใจ แต่ไม่พูด” อันตรายของความนิ่งเงียบในชีวิตคู่

“ไม่พอใจ แต่ไม่พูด” อันตรายของความนิ่งเงียบในชีวิตคู่

เรียบเรียงโดย : ลิปตา
ที่มา : จากการสัมภาษณ์ นพ.วิทยา นาควัชระ
รายการครอบครัวคุยกัน FM 105 MHz  จันทร์-ศุกร์ เวลา 20.30-22.00 น.


ในชีวิตคู่นั้น ความขัดใจ ไม่พอใจ เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่วิธีจัดการอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้ หลายคนอาจคิดว่าเมื่อไม่พอใจ ก็ใช้วิธีนิ่งเงียบเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะไม่สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกจริงๆออกมาได้ หรือไม่อยากพูด ไม่อยากมีเรื่อง “ไม่พอใจ แต่ไม่พูด” ถือเป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร 


การนิ่งเงียบ เมื่อไม่พอใจ เป็นอันตรายต่อผู้หญิง

                มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า ผู้หญิงที่ไม่สามารถแสดงออกอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่ใจต้องการได้ จะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพมากกว่าผู้หญิงที่ได้แสดงความรู้สึกนึกคิดถึง 4 เท่า ขณะที่ผู้ชายที่ใช้วิธีเงียบในการสงบศึกจะไม่เป็นอันตรายเหมือนผู้หญิงเพราะผู้ชายไม่ค่อยคิดอะไร มักปล่อยให้ผ่านเลย ผู้ชายจึงไม่กดดันต่างจากผู้หญิงที่จะมีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ หรือเป็นโรคหัวใจ

                นพ.วิทยา นาควัชระ จิตแพทย์  ให้คำอธิบายในเรื่องนี้ไว้ในรายการ "ครอบครัวคุยกัน” ว่า การที่ผลของการนิ่งเงียบเมื่อไม่พอใจของผู้ชายผู้หญิงต่างกันนั้นเป็นเพราะผู้หญิงจะรู้สึกกดดัน รู้สึกเครียด รู้สึกผิดได้ง่ายกว่าผู้ชาย ซึ่งคนที่อยู่กับความรู้สึกผิดและเครียดนานๆ จะมีอาการทางกายแสดงออกมาที่เรียกว่า อาการจิตสรีระแปรปรวน (phychosomatic disorder) บางคนเป็นไมเกรน ปวดหัวข้างเดียว หรือปวดหัวสองข้าง คลื่นไส้อาเจียน แผลในกระเพาะอาหาร บางคนย้ำคิดย้ำทำ ย้ำกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ยิ่งเครียดยิ่งกิน คนฝรั่งจะเน้นกิน คนเอเชียจะซึมเศร้า น้อยเนื้อต่ำใจ มีอารมณ์เศร้าหมองตลอด ซึ่งโรคหัวใจจะตามมาเพราะเกิดจากความดันโลหิตสูง เวลาเครียดหัวใจจะบีบตัวแรง นำไปสู่การเป็นโรคหัวใจเรื้อรังได้

ทำไมผู้ชายไม่มีปัญหา ?

                ผู้ชายไม่มีปัญหากับความเงียบเพราะผู้ชายมีทางออกมากกว่า เช่น ไปกินเหล้า ไปเที่ยวกับเพื่อน ได้ปลดปล่อยทางอื่น หรือคิดว่าเสียเปรียบเมียบ้างก็ไม่เป็นไร อีกอย่างกลไกชีวิตก็ต่างกัน ผู้ชายเป็นฝ่ายล่า เวลาโกรธก็จะแก้แค้นเอาคืนได้ง่ายกว่า แต่ผู้หญิงเป็นฝ่ายสมยอม เช่นเวลามี sex ไม่เต็มใจแต่ก็ยอมได้ ขณะที่ผู้ชายเวลาโกรธก็ยังมี sex ได้ อาจจะทำไปด้วยเพราะความโกรธและความไม่พอใจบางอย่าง ดังนั้น กลไกทางจิตในการแก้ไชความเครียดของผู้ชายมีทางระบายออกได้ดีกว่าผู้หญิงแม้ในเรื่องเพศ

จะพูดอย่างไร ถ้าเราไม่พอใจ

                ควรพูดกับเขาดีๆพูดอย่างเป็นมิตร มีความเมตตา แสดงให้เห็นว่าเราอยากอธิบายให้ฟัง พูดช้าๆ ชัดๆ ย่อความสั้นๆ พูดในแง่บวก ไม่มีน้ำหูน้ำตา ไม่ทะเลาะ ไม่ตะโกน ทำความเข้าใจกับคำพูดที่เราคิดว่า “เขาว่าเรา” ซึ่งจริงๆ แล้วมันอาจไม่ใช่ก็ได้ เมื่อเราพูดก็เท่ากับเราได้แสดงความจริงใจแล้ว แต่เขาจะเชื่อหรือไม่ ก็ขึ้นกับพื้นฐานบุคลิกของเขา แต่การเงียบนั้นไม่ดีแน่ เพราะเงียบแปลได้หลายอย่างเช่นโกรธ ยอมรับ อีกฝ่ายก็อาจตีความผิดพลาด ผู้ที่เก็บความรู้สึกติดลบกับตัวเอง ไม่พูด ไม่แสดงออก ไม่อธิบาย อาจทำให้อีกฝ่ายมองเราผิดได้

เชื่อว่าเขารักฉัน เพื่อที่เราจะได้รักกันนานๆ

                บางครอบครัวทะเลาะกันบ่อย แต่ถ้าเรารักกัน มองกันและกันในแง่ดี ไว้เนื้อเชื่อใจกันก็จะทะเลาะกันน้อยลง พอไม่รัก ก็จะรำคาญและรังเกียจ พอไม่เชื่อใจก็จะระแวง ทำให้ทะเลาะกัน  แต่ถ้ารักกันก็จะให้อภัยกัน ทำอะไรผิดไปบ้างก็มองข้าม เพราะเราคิดว่าเรารักกัน มีสมการอยู่วา ถ้าฉันรักเขา แต่เขาไม่ค่อยรักฉัน เราจะหาเรื่องเขาได้ง่าย เพราะคิดว่าเราขาดทุน แต่ถ้าคิดว่าเขารักฉัน (เพราะว่าวันนั้นเขายิ้มให้ ยังซื้อขนมมาฝาก วันนั้นเขายังจ่ายเงินค่ารองเท้าให้) ความเชื่อนี้จะทำให้ฉันรักเขาตอบ แล้วธรรมชาติของมนุษย์จะรักคนที่รักเรา ถ้ามีการแสดงความรักทั้งท่าทางกิริยาวาจา อีกฝ่ายก็จะรู้สึกถึงความรักและรักตอบ จะทำให้รักกันได้นาน ลองมองหาพฤติกรรมดีๆ  ที่จะทำให้เรามั่นใจว่าเขารักเรา

                ความรักก็เหมือนขนม จะหวานมากหวานน้อยก็เป็นขนม ขึ้นอยู่กับว่าบางคนจะแสดงความรักอย่างไร แต่ยังไงก็หวาน ถ้ายอมรับได้ก็จะอยู่กันได้นาน เขาให้เราแล้ว เราจำในสิ่งดีๆ คำว่าขาดทุนก็จะไม่มี แต่ถ้าเขาไม่รักเราจริงๆ เขาเปลี่ยนไป ไม่ปกติ มองเห็นชัดว่าหลอกเรา ถ้าไม่ไหวก็ลาจาก ความรักต้องทำให้เบิกบาน สดชื่น แจ่มใส และสร้างสรรค์ คนที่อยากได้คู่ที่สมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่างคงหาได้ยาก เพราะแม้แต่ตัวเราเองก็ยังดี ยังทำอะไรได้ไม่ถูกใจตนเองเลย

                ความรักทำให้เราแข็งแรงก็ได้ ทำให้เราเจ็บป่วยก็ได้ ถ้าเราวางใจไม่ถูก ปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกพาไป เราเองนั่นแหละที่จะตามใจตนเองไม่ทัน และปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นได้

 

ที่มา คอลัมน์รู้จักรัก นิตยสารโฮม ปีที่ 3 ฉบับที่ 16 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2554