Accessibility help

เมนูหลัก

หลักธรรมสำหรับชีวิตครอบครัว

หลักธรรมสำหรับชีวิตครอบครัว

 

 
 

 

โดย   พระมหาสุรศักดิ์   สุรเมธี (ชะมารัมย์)
น.ธ.เอก, ป.ธ.4, กำลังศึกษาปริญญาตรี พธ.บ.(ภาษาอังกฤษ)
ชั้นปีที่ 4     มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา  และกำลังศึกษาปริญญาตรี B.B.(Buddhist Studies) Dhammakaya Open University, California, USA
 
……………………………………….
 
 
 
     ก่อนอื่นต้องขอแสดงความชื่นชมยินดีต่อโยมพี่ทั้งสองที่ได้มีวันนี้คือได้แต่งงานกัน หลังจากที่คบกัน ดูใจกันมาได้สักพักหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างดูใจกันจนทำให้แน่ใจว่าคนนี้แหละใช่เลย สามารถอยู่กับเรา ดูแลเราได้ จึงทำให้มีงานในวันนี้ขึ้น ซึ่งตัวอาตมาเองรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ที่โยมพี่ทั้งสองลงเอยกันได้ด้วยดี แม้ว่าจะมีอุปสรรคบางอย่างคอยขัดขวางบั่นทอนความรักของโยมพี่ทั้งสองอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่โยมพี่ทั้งสองก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถที่จะแหวกว่ายหรือผ่าอุปสรรคนั้นไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตาม งานในวันนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในชีวิตของโยมพี่ทั้งสอง เพราะว่าการแต่งงานเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินชีวิตครอบครัวที่โยมพี่ทั้งสองจะต้องใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันไปจนกระทั่งตายกันไปข้างหนึ่งว่างั้นเถอะ
 
     คำว่า ครอบครัว เป็นคำที่สำคัญและมีความหมายหนักหน่วง ซ่อนปริศนาธรรมอยู่ภายใน แยกมาจากคำว่า ครอบ กับคำว่า ครัว   คำว่า ครอบ มีความหมายว่า การเอาของที่มีลักษณะภายในโปร่งคล้ายๆ ขันคว่ำปิดเอาไว้ และ คำว่า ครัว มีความหมายว่า เรือนหรือโรงทำกับข้าว ในที่นี้คือ บ้านหรือเรือนนั่นเอง ดังนั้น ครอบครัว จึงหมายถึง การครอบคนสองคนไว้ในบ้านหรือเรือนเดียวกันไม่ให้จากกันไปไหน เมื่อทราบความหมายอย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้เห็นภาพชัดว่า การมีครอบครัวก็คือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายใต้หลังคาบ้านหรือเรือนเดียวกันไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
 
      การที่คนสองคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะความคิดเห็นของคนทั้งสองอาจมีไม่เหมือนกัน จำเป็นต้องมีการปรับหรือจูนความคิดเห็นเข้าหากัน เพื่อลดความบาดหมางกัน หรือโกรธเคืองกัน หากสามารถสร้างความคิดเห็นให้เป็นอย่างเดียวกันได้ ก็จะนำไปสู่การสร้างครอบครัวให้มีความสุข ดังนั้น โยมพี่ทั้งสองจึงควรทราบหลักธรรมที่ใช้สำหรับการดำเนินชีวิตครอบครัว เพื่อสร้างความรัก ความเข้าใจกันมากขึ้น หลักที่อาตมาอยากจะนำมาเสนอไว้ให้โยมพี่ทั้งสองยึดถือปฏิบัติในที่นี้คือ หลักฆราวาสธรรม (หลักธรรมสำหรับผู้ครองเรือน) ประกอบด้วย
 
     1. สัจจะ หมายถึง ความซื่อสัตย์ต่อกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่นอกใจกัน สามีรักภรรยา ภรรยาก็รักสามี ต่างฝ่ายต่างจริงใจและซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่มีความลับต่อกัน พูดง่ายๆ คือ ให้รักเดียวใจเดียว อย่าหลายใจ อย่าหึงกันมากจนเกินเหตุ เพราะจะนำไปสู่การผิดใจกัน ทำให้เกิดการโกรธเคืองกันและอาจทำให้ชีวิตครอบครัวพังลงได้ 
 
      2. ทมะ หมายถึง การรู้จักข่มใจ หักห้ามใจในเวลามีเรื่องราวที่ไม่สบายใจเกิดขึ้น เช่น เวลาโกรธ ก็ให้พยายามข่มใจไม่ให้โกรธ หรือแสดงความโกรธนั้นต่ออีกฝ่าย เพราะจะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจหรืออาจโกรธตอบ อันจะนำไปสู่การทะเลาะกัน เป็นต้น
 
     3. ขันติ หมายถึง ความอดทน หมายความว่า ให้รู้จักอดทนต่อคำกล่าวติชินนินทาของอีกฝ่าย หรือคนอื่นๆ เขาจะว่าอะไรก็ให้พยายามอดทนเอาไว้ เก็บอารมณ์เอาไว้ อย่าแสดงออกตอบ เพราะหากแสดงออกตอบก็จะนำไปสู่การก่อวิวาทกัน โกรธเคืองกัน ผิดใจกัน เวลาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโกรธ ก็ให้อีกฝ่ายพยายามอย่าโกรธตอบ หรือทางที่ดีที่สุดให้เดินหนีไปให้ไกล อย่าพูดด้วย รอให้อาการความโกรธสงบลงก่อน จึงค่อยพูดด้วย เพราะในเวลาที่โกรธจะไม่มีสติ มักไม่ยอมรับฟังเหตุผลของอีกฝ่าย มักใช้กำลังในการแก้ปัญหา ขืนพูดด้วยก็จะเข้าสำนวนไทยที่ว่า “สีซอให้ควายฟัง” หรือ “เป่าปี่ให้ควายฟัง” ทำอย่างไรมันก็ไม่รู้เรื่องหรอก เสียเวลาเปล่า ดังนั้น จึงต้องอดทนเอาไว้
 
      4. จาคะ หมายถึง การเสียสละ การรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนตนให้แก่อีกฝ่าย หรือการรู้จักเสียสละความสุขของตนเพื่ออีกฝ่าย พยายามยอมกันในบางเรื่องหรือทุกเรื่อง สามียอมภรรยา ภรรยายอมสามี สามีรู้จักเสียสละต่อภรรยา ภรรยารู้จักเสียสละต่อสามี ต่างฝ่ายต่างรู้จักเสียสละต่อกัน ก็จะทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขได้
 
           
 
      นอกจากหลักธรรม 4 ข้อข้างต้นแล้ว โยมพี่ทั้งสองจะต้องปฏิบัติตามหลักทิศ 6 อีกด้วย โดยเฉพาะข้อที่ว่า ด้วยหน้าที่ของสามีและภรรยาที่จะพึงปฏิบัติต่อกัน ทั้งสามีและภรรยาต่างก็มีหน้าที่ที่ต้องทำต่อกัน โดยสามีมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อภรรยาดังนี้คือ
 
       1. ต้องยกย่องนับถือว่าเป็นภรรยาของตนเอง แม้ว่าเขาจะมีฐานะหรือตำแหน่งทางสังคมเป็นอย่างไรก็ตาม หากได้แต่งงานใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับเราแล้ว ก็ต้องยอมรับนับถือว่าเป็นภรรยาด้วยความเต็มใจ
 
      2. ไม่ดูหมิ่น ดูแคลน หรือดูถูกเหยียดหยามภรรยาตน อาจเป็นเพราะสาเหตุบางประการ เช่น มีฐานะยากจน ไม่มีงานทำ ฯลฯ
 
       3. ไม่ประพฤตินอกใจ สามีต้องซื่อสัตย์ต่อภรรยา ต้องรักเดียวใจเดียว ไม่มีชู้ หรือประพฤตินอกใจภรรยา
 
      4. มอบความเป็นใหญ่ให้ หมายความว่า สามีต้องยินยอมมอบความเป็นใหญ่ให้ภรรยาในหลายๆเรื่อง อาทิ เรื่องงานบ้าน งานครัว รวมทั้งงานอื่นๆที่ภรรยาสามารถทำได้ โดยที่ไม่เข้าไปก้าวก่าย หรือต่อว่า หรือติชินนินทา 
 
      5. ให้เครื่องแต่งตัว หมายความว่า สามีต้องรู้จักให้เครื่องแต่งตัวแก่ภรรยาตนในบางโอกาส เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ภรรยาในการทุ่มเททำงานบ้าน อาจซื้อของใช้ส่วนตัวภรรยาหรือของชำร่วยให้ก็ได้ เช่น ซื้อแหวนให้สักวง ฯลฯ
 
           
 
      หลักทั้ง 5 ข้อนี้เป็นหลักที่สามีพึงปฏิบัติต่อภรรยาในฐานะเป็นคู่ชีวิตของตน ในทางตรงกันข้ามเมื่อสามีกระทำต่อภรรยาอย่างนี้แล้ว ภรรยาก็ไม่ควรอยู่นิ่งเฉยต้องขวนขวายทำกิจปฏิบัติตอบต่อสามีด้วยการปฏิบัติตน ดังนี้คือ
 
     1. จัดการงานดี หมายความว่า สามารถดูแลกิจการงานบ้านทุกอย่างได้เป็นอย่างดียิ่ง สามารถจัดบ้านได้สวยงามเป็นระเบียบ ดังนั้นผู้ที่เป็นภรรยาต้องรู้เรื่องการบ้าน การเรือนดีพอสมควรจึงสามารถจะจัดการดูแลความสะอาดภายในบ้านหรือเรือนได้
 
      2. สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามีดี เวลาที่สามีมีเพื่อนหรือแขกมาเยี่ยมเยียนที่บ้าน ภรรยาต้องรู้จักทำปฏิสันถารต้อนรับหรือปฏิบัติตนต่อบุคคลเหล่านั้นเป็นอย่างดี เช่น หาน้ำมาให้ดื่ม ปฏิบัติตนเรียบร้อย ไม่กล่าวเรื่องราวอันจะเป็นเหตุกระทบกระทั่งจิตใจของคนข้างเคียงสามีตน เป็นต้น
 
      3. ไม่ประพฤติล่วงใจสามี ภรรยาต้องมีความซื่อสัตย์ต่อสามี จริงใจต่อสามี ไม่มีชู้หรือนอกใจสามี
 
      4. รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ ทรัพย์ทุกอย่างที่สามีหามาได้ ไม่ว่าจะด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย หรือน้ำพักน้ำแรง และมอบไว้ให้ภรรยาเก็บดูแลรักษานั้น ภรรยาจะต้องเก็บดูแลรักษาทรัพย์สมบัตินั้นให้เป็นอย่างดียิ่ง ไม่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องอันหาประโยชน์ไม่ได้ ต้องรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัดที่สุด
 
       5. ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการทั้งปวง ภรรยาไม่ควรมีความเกียจคร้าน ต้องมีความตื่นตัว ขยันอยู่ตลอดเวลา หมั่นดูแลทำความสะอาด ปัดกวาด เช็ดถูบ้านเรือนเป็นประจำ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง อ้างนั้น อ้างนี้ จนไม่เป็นอันทำการงาน
 
 
 
        หลักธรรมที่อาตมาได้หยิบยกเอามาฝากในโอกาสนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อโยมพี่ทั้งสอง เพราะจะทำให้โยมพี่ทั้งสองเข้าใจการมีชีวิตครอบครัวมากขึ้น สามารถปฏิบัติต่อกันได้อย่างถูกต้อง และสามารถที่จะประคับประคองชีวิตครอบครัวให้ดำเนินไปตามแนวทางแห่งความสุขและความสงบร่มเย็นได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีหลักประกัน มีหลักปฏิบัติต่อกัน ทำให้เห็นอกเห็นใจกัน และเข้าใจกันมากขึ้น อันจะทำให้เกิดความรักกันมากขึ้นตามลำดับด้วย  
       
        ดังนั้น โยมพี่ทั้งสองจะต้องปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ และต้องถือปฏิบัติอย่างจริงจัง อย่าทำเล่น ต้องถือปฏิบัติด้วยใจจริง หากโยมพี่ทั้งสองปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าวข้างต้นนี้แล้ว อาตมาก็เชื่อว่า โยมพี่ทั้งสองจะมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุข ความเจริญ ไม่มีเรื่องที่ต้องคิดให้ปวดหัวเป็นแน่ สามารถขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ทำให้รักกันมากขึ้น และสามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันไปจนแก่เฒ่าตลอดจนถึงวันตายได้อย่างมีความสุข 
 
          สุดท้ายขอทิ้งท้ายด้วยสุภาษิตจีนบทหนึ่งว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” หมายความว่า หากสามีรู้ใจภรรยา และภรรยาก็รู้ใจสามีด้วย ต่อให้มีอุปสรรคมารุมเร้าหรือขัดขวางมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ทั้งสามีและภรรยาก็จะสามารถช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรคนั้นๆไปได้.....
 
 ที่มา http://knowledge.eduzones.com/knowledge-2-3-34781.htmlมา