Accessibility help

เมนูหลัก

เรียนรู้เรื่องเพศในแต่ละช่วงอายุ/นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

 

สังคมตระหนักชัดว่า สังคมประเทศไทยนี้มีปัญหาเรื่องการมีเพสสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ไม่รู้จักป้องกันการตั้งครรภ์ ทำให้มีบุตรนอกสมรส ขาดผู้รับผิดชอบและความรับผิดชอบต่อเด็กในครรภ์และเด็กที่จะเกิดมาส่งผลตามมาอีกมากมาย
 
          ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล  รามาธิบดี  สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้คำแนะนำในเรื่องนี้ดังนี้

การสอนเพศศึกษาในแต่ละช่วงอายุ
 
           กุมารแพทย์ควรจะมีบทบาทในการสอนเพศศึกษาแก่พ่อแม่ และเด็กตั้งแต่เล็กในคลินิกตรวจสุขภาพซึ่งควรจะขยายเป็นทุกอายุจนถึงวัยรุ่น เนื้อหาที่จะสอนหรือให้ความรู้ในแต่ละด้าน ควรให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย จำแนกออก เป็นช่วงเด็กเล็กหรืออนุบาล (3-5 ขวบ), ประถมตอนต้น (6-8 ขวบ), ประถมตอนปลาย (9-11 ขวบ), มัธยมต้น (12-14 ปี) และมัธยมปลาย รวม ปวช. (15-17 ปี)

เมื่อลูกอายุ 0-3 ขวบ : เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ผิดเพศ
 
           พัฒนาการของเด็กวัยนี้เรียนรู้ที่จะรู้จักความ รัก ความผูกพัน และสร้างความไว้วางใจแม่ ผ่านพฤติกรรมแม่ (การมอง พูด คุย อุ้ม สัมผัส สีหน้าแววตา) ที่คอยตอบสนองอย่างพอเหมาะต่อความต้องการพื้นฐานของเด็ก เริ่มเรียนรู้ที่จะดุว่าใครรักหรือไม่รัก และเด็กเริ่มที่จะต้องการช่วยตัวเองใน เรื่องกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับประทานอาหารด้วยตนเอง อยากช่วยพ่อแม่ทำกิจกรรมงานบ้าน แต่ ไม่สามารถทำได้ เป็นการเพิ่มภาระให้แม่มากกว่า
 
          บทบาทพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกวัยนี้ควรให้ความรักและตอบสนองลูกอย่างพอเหมาะและสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกไว้วางใจพ่อแม่ และสนับสนุนให้ เด็กได้ช่วยตัวเอง เรื่องการรับประทานอาหารและงานที่ลูกอยากทำ แม้ว่าจะทำได้ไม่ดีนักก็ตาม ตลอด จนการเลี้ยงลูกให้ตรงตามเพศของเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถแยกเพศได้โดยเรียนรู้เพื่อรู้จักเพศของตนเอง และรู้จักเพศตรงข้าม เพราะถ้าเลยอายุนี้ เด็กยังไม่รู้ว่าตนเป็นเพศใด อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศได้เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น

การสอนเด็กวัยอนุบาล (3-5 ขวบ)
 
พัฒนาการทางเพศ
 
          เด็กจะเริ่มเรียนรู้ความแตกต่างทางสรีระภายนอกระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย สำหรับพ่อแม่การตอบคำถามลูก ควรใช้วิธีคุยมากกว่าตอบ อย่างเดียว โดยมีหลัก 4 ประการ ในการพูดคุยกับลูกดังนี้
 
          1. ไม่ดุว่าลูกเมื่อลูกถามเรื่องเพศ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องปกติที่สามารถถามและพูดคุยกับพ่อแม่ได้
 
          2. ตอบคำถามของเขาด้วยกิริยาท่าทางปกติ เหมือนอธิบายเรื่องทั่ว ๆ ไป
 
         3. ใช้คำพูดและเหตุผลง่าย ๆ ตามความเป็นจริง ไม่หลอกหรือขู่
 
         4. ตั้งใจฟังและให้เวลาแก่ลูก
 
         5. ใช้การพูดคุยมากกว่าตอบคำถามอย่างเดียวและการตอบควรตอบตรงไปตรงมา ใช้คำพูดง่าย ๆ สั้น ๆ เช่น

          ถาม  ทำไมนมหนูเล็ก นมคุณแม่ใหญ่

          ตอบ  ตอนนี้หนูยังเล็ก มือก็เล็ก เท้าก็เล็ก นมก็เล็ก เล็กไปทุก ๆ ส่วน เมื่อหนูโตขึ้น อวัยวะทุก อย่างก็ค่อย ๆ โตตามด้วย ดังนั้น เมื่อหนูโตเท่าแม่ นมหนูก็จะโตเหมือนแม่

          ถาม หนูเกิดมาจากไหน

          ตอบ หนูเกิดจากท้องแม่

          ถาม แล้วหนูออกมาได้อย่างไร

          ตอบ เป็นคำถามที่ยากขึ้นแต่เด็กไม่ได้สนใจว่า เขาออกมาจากช่องไหน ดังนั้น ควรใช้คำตอบกลาง ๆ ว่าหมอช่วยลูกออกมา ลูกถึงได้แข็งแรงและน่ารัก แบบนี้

 

การสอนเด็กปฐมวัย 6-8 ขวบ  
 
          1. พัฒนาการทางเพศ เด็กจะเริ่มเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างหญิงและชายในด้านบทบาททางสังคม
 
          เด็กวัย 6-8 ขวบ ร่างกายกำลังเจริญเติบโต มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง ชอบซักถาม ชอบลองทำในสิ่งที่ท้าทายความ สามารถ ต้องการเพื่อน ชอบแข่งขัน ชอบเล่นเป็นกลุ่ม ชอบแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ ต้องการให้คนสนใจ ชอบคนยกย่องชมเชย และต้องการการยอมรับจากครูและเพื่อน แต่ยังต้องการความสนับสนุนจากพ่อแม่ ทั้งด้านการเรียน การเล่น การเข้าสังคม การปรับตัว การควบคุมอารมณ์ และการสร้าง จริยธรรม
 
          เด็กจะมีการเล่นโดยแยกเพศ เด็กจะรวมกลุ่มในเพศเดียวกัน ความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันนี้ ช่วยเน้นเอกลักษณ์ทางเพศของเด็ก เด็กผู้ชายสนใจการเล่นที่ใช้แรง ให้ความสนใจในการเข้าสังคม น้อยกว่าเด็กผู้หญิงซึ่งชอบอยู่รวมกลุ่มกัน ชอบเล่นเกมที่ใช้แรงน้อย และให้ความสนใจในการเข้าสังคม การที่แยกกลุ่มจะทำให้เด็กแต่ละเพศเริ่มเรียนรู้พฤติกรรมเฉพาะเพศจากเพื่อน ๆ
 
          เมื่อผ่านวัยที่แล้วมาเด็กจะมีความรู้สึกว่าตนเป็นเพศใด และเริ่มบทบาทที่เหมาะสมกับเพศของตน และรู้จักพัฒนาตนเองให้เข้ากับเพื่อนเพศเดียวกัน โดยสามารถสนใจ มีกิจกรรมรวมทั้งมีความ คิดฝันทางเพศร่วมกับเพื่อนได้ กิจกรรมทางเพศของเด็กในวัยนี้คือ เขาจะมีการเล่นสมมุติ โดยแสดง เป็นพ่อแม่หรือสามีภรรยาในหมู่เพื่อน
 
          เด็กวัยนี้ถูกแนะนำเข้ามาในโลกทางเพศของผู้ใหญ่โดยหนังสือนวนิยาย ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และการสังเกตสิ่งแวดล้อมประจำวันรอบ ๆ ตัว ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเพศจะค่อยเกิดขึ้นภายในจิตใจ เด็กจะเรียนรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรถูก อะไรผิด มีการใช้ dirty word dirty action เพิ่มมากขึ้น ความรู้ที่ได้มาคล้ายกับการต่อภาพจิ๊กซอว์ คือ เด็กจะค้นพบความเป็นจริงไปทีละเล็กทีละน้อย
 
          เป็นช่วงที่มีความสำคัญในการสอนทักษะ การใช้ชีวิต 12 องค์ประกอบ คือ มีความคิดวิเคราะห์ วิจารณ์ สำรวจความคิดสร้างสรรค์ สร้างสัมพันธภาพ กับผู้อื่นได้ มีการสื่อสารที่ดี ตัดสินใจด้วยเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า มีความสามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียด ประกอบกับรู้จักตนเอง ภูมิใจในตนเอง มีวินัยและมีความรับผิดชอบ มีความเห็นใจผู้อื่น และรู้จักรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กเข้มแข็ง ดูแลตนเอง พอใจในเพศของตนเอง ปรับตัวและพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
 
          การเลี้ยงลูกในวัยนี้ จะเหมือนกับช่วงวัย 3-5 ขวบ แต่ควรเน้นเรื่องวินัยและความรับผิดชอบ มอบหมายให้ทำ ฝึกในการเล่น เพื่อเพิ่มทักษะ และความสำเร็จ เน้นคุณภาพในการสื่อสารระหว่างพ่อแม่ลูก ฝึกให้เด็กหัดตัดสินใจด้วยเหตุผล และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเอง ตั้งแต่งานง่าย ๆ ไปสู่งานที่ยาก ฝึกทักษะด้านต่าง ๆ ให้ลูก เพื่อให้เด็กมีความรับผิดชอบ เป็นตัวของตัวเอง มีความนับถือตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง ในขอบเขตที่เหมาะสม รับรู้คุณค่าของตนเองและผู้อื่น มีความสุขและมีสังคมเพิ่มขึ้น
 
          2.  สุขอนามัยทางเพศ การดูแลรักษาความสะอาด, การทำความสะอาดหลังการขับถ่าย, การสังเกตความผิดปกติของอวัยวะเพศ/อุบัติเหตุจากการเล่น
 
          3.  พฤติกรรมทางเพศ เรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนตัว (การปกปิดร่างกาย, การพูดคำหยาบ, การเคารพสิทธิในร่างกายของผู้อื่น, การแต่งกายให้เหมาะสมกับเพศ)
 
*** กรณีลูกเอาหนังสือโป๊มาดู***
 
          ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติ ความ อยากรู้อยากเห็นของเด็กไม่ควรตำหนิหรือดุว่า แต่ควรจะสอนหรือแนะนำให้เด็กรู้จักเลือกสื่อเพื่อการศึกษา ไม่ใช่สื่อเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ และ น่าจะถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการอธิบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจจากวัยเด็กเป็นผู้ใหญ่ หรือการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาในด้านต่าง ๆ เพราะเด็กให้ความสนใจและมีความอยากรู้ การที่เด็กได้รับความรู้จากพ่อแม่หรือครูไม่เพียงพอ เด็กก็จะแสวงหาเอง ซึ่งอาจจะรับสื่อที่ไม่เหมาะสมส่งผลให้เด็กมีความรู้และทัศนคติตลอดจนพฤติกรรม ที่ไม่ถูกต้องได้.

 


ที่มา  http://www.clinicdek.com/index.php?option=com_content&task=view&id=653&Itemid=26