Accessibility help

เมนูหลัก

หลักการออมเงินแบบได้ผลจริง โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

หลักการออมเงินแบบได้ผลจริง โดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

ในภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ออกจะเนือยๆ ในระยะนี้ อาจทำให้หลายครอบครัวสนใจเรื่องการจัดการกับเศรษฐกิจภายในบ้านมากขึ้น ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ และคอลัมนิสต์หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ได้ให้ความเห็นเรื่องการออมอันเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจในรายการวิทยุครอบครัววันอาทิตย์ ให้ทุกครอบครัวได้เข้าใจและเรียนรู้ร่วมกันค่ะ
 
ทำไมต้องออม?
                  การออมสำคัญกับครอบครัวในยุคปัจจุบัน เพราะคือเรื่องการวางแผนเพื่ออนาคต ผมคิดว่ามนุษย์ไม่ได้อยู่เพื่ออดีต แล้วก็ไม่ได้อยู่เพื่อปัจจุบันด้วย แต่เราใช้ชีวิตปัจจุบันวันนี้เพื่ออนาคต สำหรับสัตว์เขาจะมีการวางแผนไว้สำหรับช่วงฤดูหนาวหรือตอนที่จะมีลูก แต่สำหรับมนุษย์เหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่ไม่มีอะไรมาบังคับให้วางแผนสำหรับอนาคต แต่ที่ถูกคือมนุษย์ต้องใช้เงิน ทำให้ยิ่งจำเป็นต้องวางแผนยิ่งกว่าสัตว์อื่นๆ ขึ้นไปอีก เพราะการออมคือการที่เรากันเงินที่เราหาได้ในวันนี้ ไว้สำหรับการลงทุนหรือการทำให้ชีวิตเรามั่นคงยิ่งขึ้นในอนาคต
 
การออมมุมบวก
                  ถ้าเรามองการออมเป็นเรื่องบวก เช่น การออมคือเราหักร้อยละ 20 จากรายได้ก่อนจะหักภาษี จะทำให้เราไม่รู้สึกเป็นลบ ถ้ามีใครมาพูดว่าให้ออม จะเป็นคำพูดที่ฟังแล้วเจ็บปวดมากเพราะไม่มีใครอยากจะออม แต่ถ้าเราบอกว่าเป็นการที่เรากันเงินส่วนหนึ่งที่เราได้มาเป็นของเราจริงๆ อย่างมีเป้าหมาย เช่น จะดาวน์รถ  ดาวน์บ้าน หรือผ่อนบ้าน แล้วเอาภาพรถหรือบ้านมาติดไว้ ทำให้ทุกๆ บาทของการออมเป็นการก้าวเข้าไปใกล้เป้าหมายนั้นอีกก้าวๆ แบบนี้การออมที่เป็นลบก็จะกลายเป็นบวก
 
ไม่ได้สุรุ่ยสุร่ายแต่ก็ยังเก็บเงินไม่ได้ เพราะอะไร
                  ประการแรกคือมนุษย์ไม่ชอบการออม ประการที่สองเกิดจากเรามักจะระวังการใช้จ่ายเงินกับสิ่งที่เราซื้อมาเป็นเงินเยอะๆ เช่นโทรศัพท์มือถือโทรทัศน์ ตู้เย็น ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็นของเหล่านี้จะระมัดระวังมากเลย เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่ ทั้งที่ของเหล่านี้นานทีหลายปีเราถึงจะซื้อสักหน แต่ถ้าเราลองเปรียบเทียบเงินที่เราใช้ทุกวันที่เรามักจะมองข้ามไปเพราะเป็นเงินที่จ่ายไปทีละเล็กทีละน้อย แต่ถ้าลองรวมๆ กันเข้าก็เยอะเหมือนกัน ตรงนี้เราก็ไม่ได้ระมัดระวัง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตให้พอเหมาะกับฐานะ คือถ้าเรามีฐานะระดับหนึ่งแต่สามารถใช้ชีวิตให้ต่ำลงมาสักระดับหนึ่งอันนั้นเองเราจึงจะออมได้
 
ในภาวะที่มีหนี้สินจะเริ่มต้นการออมได้อย่างไร
                  ต้องยอมรับว่าต้นไม้ถ้าอยากเห็นความเจริญเติบโตในวันนี้ เราต้องปลูกตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน เราไม่สามารถหมุนย้อนเวลากลับไปได้ เพราะฉะนั้นต้นไม้จะเติบโตเร็วที่สุดก็ต้องปลูกวันนี้ เช่นเดียวกับการออมนั่นเอง ถ้าเราไม่เคยออมมาก่อนเลยไม่เคยเก็บงำไว้สำหรับอนาคตเลยก็คงต้องเริ่มจากวันนี้ และถ้าจะเริ่มต้นจากวันนี้ เราก็ต้องปรับความคิดของเรา เพราะว่าพฤติกรรมของเราจะขึ้นอยู่กับวิธีคิดของเรา ถ้าเราคิดว่าเรายอมจนวันนี้เพื่อรวยในวันข้างหน้าเราก็จำเป็นต้องมีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่มีการวางแผน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ การบังคับออม หมายถึงเมื่อได้เงินเดือนมาแล้วให้หักเข้าบัญชีไว้ต่างหากไม่ต้องไปใช้จ่ายมันเลย ส่วนที่เหลือเราจัดการใช้จ่ายมันเอง กันไว้เป็นลักษณะวัตถุประสงค์แต่ละอย่างแต่ละบัญชีที่เราเปิดไว้ แต่ถ้าเราได้เงินมาแล้วใช้ปะปนกันอันนี้ออมยาก สรุปคือเบื้องต้นต้องเริ่มจากการออมก่อนที่จะใช้จ่าย อันนี้คือเคล็ดลับการออมที่มีการศึกษากันไว้ในต่างประเทศว่าการออมต้องบังคับออมไว้สำหรับวัตถุประสงค์เช่นผ่อนบ้านหรือซื้อประกันชีวิตเหล่านี้จึงจะออมได้
 
ท่ามกลางเศรษฐกิจฝืดเคืองจำเป็นไหมต้องออม 20%  
                   เศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างไรก็ควรออม 20% มนุษย์ทุกคนก็เหมือนกับกล้องถ่ายรูปเวลาถ่ายรูปเราจะปรับเลนส์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เราจะถ่าย เราไม่เคยให้ภาพที่เราจะถ่ายปรับเข้ากับกล้องของเรา เพราะฉะนั้นเหตุการณ์หรือสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ถ้าเราจะอยู่ให้ได้เราก็ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น เพราะฉะนั้นยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้เรายิ่งต้องปรับตัวและความคิดเรื่องการใช้จ่ายเสียใหม่ ให้มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

                  สำหรับผมคิดว่าการออกนอกบ้านน้อยที่สุด ถือว่าเป็นการออมที่ดีที่สุด คือทันทีที่ก้าวเท้าออกจากบ้านเป็นเงินเป็นทองไปหมด แต่ถ้าเรานอนอยู่บ้าน ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ หรือใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากกว่าเมื่อก่อนก็จะทำให้เราประหยัดได้มาก กลายเป็นการออมได้โดยไม่รู้ตัว
 
เงินที่ออมจะเอาไปทำอะไร
                  เอาไปทำในสิ่งที่เขาเรียกว่า การทำให้เงินทำงานรับใช้เรา ถ้าเราทำงานเพื่อเงิน เราต้องทำไปตลอดชีวิตเราก็มีบ้าน มีรถยนต์ แล้วก็มีเงินก้อนลงทุนบ้าง แต่ถ้าเราให้เงินทำงานรับใช้เรา คือเราเริ่มออมมาตั้งแต่ต้นชีวิตให้เงินทำงานเหมือนเครื่องปั๊มน้ำ เช่นถ้าเราจะผ่อนบ้านหรือคอนโดฯ เราก็เอาเงินที่ออมไว้ไปดาวน์แล้วเราก็ปล่อยให้เช่า แล้วเอาเงินค่าเช่ามาจ่ายเป็นเงินผ่อน เมื่อถึงเวลานอกจากเราจะได้เป็นเจ้าของแล้ว เรายังได้สองต่อ ต่อแรกเราได้มูลค่าของบ้านที่มากขึ้นกว่าตอนที่เราซื้อ ต่อที่สองคือหลังจากนั้นเราจะได้ค่าเช่าล้วนๆ เป็นของเราเอง อันนี้ถือว่าเราสร้างปั๊มน้ำคือให้เงินรับใช้เรา เราไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน เรายอมจนวันนี้เพื่อวันข้างหน้า ประหยัดออมเงินไว้ดาวน์วันนี้เพื่อไปเก็บกินวันข้างหน้า อันนี้ก็รวมไปถึงการซื้อหุ้นหรือซื้อประกันเหล่านี้ด้วย

                  สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับการออมไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นซื้อพันธบัตรหรือซื้อหุ้นก็ได้ เริ่มต้นจากซื้อบ้านดีที่สุด เพราะการมีบ้านสำคัญที่สุด มากกว่าการมีรถยนต์ เพราะรถยนต์ค่าของมันจะลดลงเดือนละ 3%ไปตลอด
 
ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง
                 การลงทุนเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง แต่เราสามารถลดความเสี่ยงได้โดยการลงทุนที่หลากหลาย อย่างการซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยถือว่าความเสี่ยงน้อย ผลตอบแทนอาจจะต่ำ เทียบได้กับการฝากเงินธนาคาร หรือแม้แต่การลงทุนกับหุ้นดีๆหรือกองทุนรวมที่ดีๆ ก็เสี่ยงน้อยเช่นกัน

                 ไม่ว่าจะเลือกกาลงทุนเพื่ออนาคตแบบใด ก็ควรจะเลือกให้เหมาะกับฐานะหรือกำลังของเร า เท่าไรเราจึงจะไม่เดือดร้อนเผื่อขาดทุน  อีกทั้งต้องไม่ลืมที่จะเก็บเงินออมแยกส่วนจากการลงทุนควบคู่กันอยู่เสมอ ดังที่ได้บอกไว้ว่า “จนเพื่อรวย” อย่างไรก็ดีกว่า “รวยเพื่อจน” อดทนในวันนี้เพื่อความสบายในวันข้างหน้า

                    สำหรับเด็กๆ คนที่จะสอนเรื่องกรออมที่ดีที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ เพราะเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบ จะมีนิสัยรักการออมในช่วงอายุตรงนี้ ถ้าคุณแม่ทำให้ดู ไม่สุรุ่ยสุร่าย มีกระปุกออมสินเขียนติดไว้ใบนี้ใช้ทำอะไรๆ หรือคุณพ่อคุณแม่จูงใจว่า ถ้าลูกออมได้เท่านี้พ่อกับแม่จะเพิ่มให้อีกเท่าหนึ่ง แค่นี้ก็เป็นการปลูกฝังนิสัยรักการออมที่ดีที่สุดแล้ว  อย่ารอให้ทางโรงเรียนสอนเรื่องพวกนี้ เพราะกว่าจะถึงตอนนั้นลูกก็หกขวบแล้ว ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทางโรงเรียนไม่ต้องสอน โรงเรียนยังคงต้องสอน แต่ต้องเริ่มที่พ่อแม่ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ จึงจะได้ผลดีที่สุด
 
นีรชา คัมภิรานนท์  เรียบเรียง