Accessibility help

เมนูหลัก

พ่อกับครอบครัวสร้างสุขในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ

พ่อกับครอบครัวสร้างสุขในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ
  • บทบาท “พ่อ” ใน “ครอบครัวสร้างสุข”

              พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า จริงแล้วบทบาทของพ่อในครอบครัวเกี่ยวข้อง 3 ด้านด้วยกัน คือ การร่วมรับผิดชอบต่อครอบครัว, การเลี้ยงดูบุตร และการแก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤต โดยขยายภาพว่าบทบาทแรก ทั้งพ่อและแม่ต่างมีภาระหน้าที่การงาน และการดูแลครอบครัว ควบคู่กันไป ซึ่งการที่พ่อมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อครอบครัว ทำให้ความต้องการขั้นพื้นฐานในครอบครัวมีเพียงพอ ด้านการเลี้ยงดูบุตร คือการเสริมสัมพันธภาพ ระหว่างพ่อและลูก แม่และลูก ทำให้ลูกได้รับความอบอุ่น มีภาวะจิตใจที่สมบูรณ์ การที่พ่อทำหน้าที่เลี้ยงดูลูกจะทำให้ภาพความเป็นผู้ชายมีประโยชน์ต่อลูกมาก ทั้งลูกชายและลูกสาวจะยึดเอาพ่อเป็นต้นแบบของชีวิต และคู่ครองในอนาคต บทบาทสุดท้ายคือ การแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ในครอบครัวผ่านพ้นไปได้ บางครั้งแม่ต้องการคำปรึกษาจากพ่อ เช่น จะให้ลูกเข้าเรียนที่โรงเรียนไหนดี การที่พ่อแม่ปรึกษากัน จะทำให้หาทางออกร่วมกันได้ดีกว่าแก้ปัญหาคนเดียว

              “แต่ปัญหาของพ่อที่พบคือ การไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบครอบครัว เพราะเมื่อเจอปัญหาจากภายนอก เช่นปัญหาในที่ทำงาน ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้พ่อหันไปติดเหล้า ติดการพนัน หรือติดสังคมนอกบ้านมากกว่า และปล่อยให้การดูแลครอบครัว เป็นหน้าที่ของแม่ ส่วนประเด็นการเลี้ยงดูลูก จากการสำรวจพบว่า พ่อมักจะคิดว่าการเลี้ยงดูลูกควรเป็นหน้าที่ของแม่ ไม่ว่าตั้งแต่การอาบน้ำให้ลูก จนกระทั่งถึงการส่งลูกไปโรงเรียน แต่จังหวะที่ควรมีสัมพันธภาพกับลูก กลายเป็นบทบาทของการทำโทษ ซึ่งทำให้ลูกมองภาพผู้ชายในรูปแบบของความรุนแรงในที่สุด”

            ปัญหาสุดท้ายคือการแก้ไขปัญหาในสภาวะคับขัน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า พ่อมักจะฉีกหนีจากปัญหาในสภาวะที่ตัวเองคิดว่าไม่สามารถแก้ไขได้ เช่น การที่ลูกเกิดมาผิดปกติ บทสรุปสุดท้าย คือ พ่อจะค่อยๆ แยกตัวออกจากครอบครัวและนำมาซึ่งการแยกทาง

               ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ พ่อยิ่งเกิดความเครียด ซึ่งธรรมชาติของผู้ชายมักจะเก็บปัญหาไว้แก้คนเดียว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะจริงๆ แล้วคนเป็นแม่ต้องการร่วมแชร์ปัญหา และต้องการลดความตึงเครียดของพ่อ

  • เป็น ”พ่อ” แบบไหน ครอบครัวมีสุข

               “การปรับเปลี่ยนบทบาทของพ่อเพื่อให้ครอบครัวมีความสุข คือ ก้าวหันหน้าเข้าหากัน ร่วมแชร์ปัญหาและพูดคุยกัน นอกจากนี้สมาชิกในครอบครัวก็ต้องปรับตัวร่วมกับพ่อด้วย โดยให้นึกเสมอว่า ทุกคนต้องมีส่วนร่วมกับทุกปัญหาของบ้าน” พญ.พรรณพิมล กล่าว

              ด้าน รศ.ดร สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ชี้ว่า สังคมต้องนิยามคำว่าพ่อในครอบครัวในบทบาทใหม่ในบรรทัดฐานใหม่ ควรส่งเสริมให้พ่อได้มีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อลูก เรื่องเกี่ยวกับการสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ พ่อไม่ควรเข้มงวดกับลูก แต่ให้เป็นไปแบบการเรียนรู้ร่วมกัน ต้องมีความยืดหยุ่น เมื่อมีสิ่งผิดพลาดพ่อต้องให้อภัย ในวันพ่อควรมีการถอดความรู้ออกมาว่าพ่อดีเด่นนั้นเป็นอย่างไร คนที่เขามีความเข้าใจเรื่องครอบครัวเขาเป็นอย่างไร ควรมาสรุปบทเรียนตรงนี้ เพราะปัจจุบัน เรายังไม่เข้าใจมัน

              นอกจากนี้พ่อต้องลดบทบาทการผูกขาดอำนาจ ควรมีการแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นระหว่างพ่อและลูก ครอบครัวต้องเป็นประชาธิปไตย สอนเรื่องความพอเพียง เรื่องการมีส่วนร่วมในงานบ้าน ถ้าพ่อช่วยทำ ดึงลูกเข้ามามีส่วนร่วมเรื่องงานบ้านจะเป็นเรื่องที่สนุกไม่ใช่ภาระของคนใดคนหนึ่ง

  • เราจะช่วย “พ่อ” ได้อย่างไร
              แม่อาจมีส่วนช่วยพ่อที่ต้องการปรับบทบาท โดยคิดว่าอะไรที่ทำให้พ่อไม่เข้ามามีส่วนร่วม ถ้าแม่เปิดพื้นที่ให้พ่อเข้ามา มีโอกาส มีประสบการณ์ตรง โดยแม่ไม่เข้าไปแทรกแซง ลูกนี่แหละจะเข้าไปกระตุ้นการเรียนรู้ให้พ่อ โดยเริ่มจากกิจวัตรประจำวัน 
              ส่วนสังคมก็ต้องมองบทบาทของพ่อใหม่ เสาร์อาทิตย์เห็นพ่อเลี้ยงลูก เห็นพ่อพาลูกเข้าห้องน้ำสาธารณะหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกในที่สาธารณะ หรือไปรับลูกที่โรงเรียน สังคมควรชื่นชมยินดี

              “บทบาทพ่อ ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่เป็นเรื่องของสังคมที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือกัน เราต้องมีระบบการศึกษา เรื่องของพื้นที่ของครอบครัว เรื่องของพ่อลูก เรื่องของวิถีของสังคม ที่รองรับและสนับสนุนให้พ่อได้มีบทบาทในครอบครัว ในส่วนของสื่อ ครอบครัวยังคงต้องการสื่อดีๆ เพื่อเสริมแรงใจ เพื่อพ่อได้แสดงบทบาทของพ่อ แสดงภาพงดงามที่จะประทับลงในความทรงจำของลูกจากรุ่นสู่รุ่น” พญ.พรรณพิมล กล่าว
               
               ผู้ชายไทยมีลักษณะด้อย คือ เงียบ เวลาอยู่บ้านไม่เล่น ไม่คุยกับลูก ไม่มีอารมณ์ขัน โดยเฉพาะพ่อหลายคนที่เจอความเครียดมาจากการทำงาน ยิ่งเอาความเครียดกลับเข้าบ้าน “พ่อยุคใหม่” จึงต้องเรียนรู้ที่จะสร้างบรรยากาศในทางสร้างสรรค์

  • ข้อแนะนำ 3 ข้อง่ายๆ เมื่อคุณพ่อเกิดความเครียด

        
             1. ตั้งหลัก ทำอารมณ์ให้มั่นคง เพราะอารมณ์ที่แปรปรวนจะส่งผลต่อการแสดงออก ทำให้การมองปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นคุณพ่อหรือสมาชิกในบ้าน ต้องตั้งสติเสียก่อน

              2.หาทางเลือกในการผ่อนคลายความตึงเครียด วิธีที่ดีที่สุด คือ กำลังใจ ทั้งจากตนเองและคนรอบข้าง เมื่อต้องเจอปัญหาหนักๆ ให้เผชิญหน้ากับมันแล้วนึกถึงครอบครัว เพราะครอบครัวคือที่ผ่อนคลายที่ดีที่สุด

              3.หาทางออกที่เป็นประโยชน์กับครอบครัว ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ อาจทำให้ทางเลือกแตกต่างไปจากเดิม ในกรณีที่พ่อตกงาน การหางานใหม่ที่เป็นตลาดและโอกาสใหม่ๆ ที่ไม่หดตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ ดูจะเป็นทางออกในเวลานี้ แม้ว่าจะมีความเคยชินกับลักษณะงานเดิมๆ แต่เมื่อทางเลือกนั้นตีบตัน จึงควรเปิดใจดูลักษณะงานอื่นๆ ที่คิดว่าเรามีศักยภาพทำได้

ที่มา: จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับ สร้างสุข