Accessibility help

เมนูหลัก

"4 อย่า" เมื่อเกิดปัญหาในชีวิตคู่

"4 อย่า" เมื่อเกิดปัญหาในชีวิตคู่

 

เมื่อคนสองคนตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ล้วนมีความฝันถึงอนาคตอันสวยหรูของชีวิตคูแทบทั้งนั้น ร้อยละร้อยต่างพยายามบากบั่นทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยง เลี้ยงสายใยของความรักความผูกพันให้มั่นคงตลอดไป แต่ในชีวิตจริง สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดก็มักจะเกิดขึ้นได้ โดยไม่คาดฝันเสมอ โดยเฉพาะเรื่องชีวิตคู่ แทบจะหาคู่ที่อยู่กันโดยไม่มีปัญหายากเย็นเต็มที อยู่ที่ว่าคู่ไหนจะมีปัญหามากน้อยเท่านั้น และอยู่ที่ว่าเราจะฟันฝ่าปัญหาให้หมดไปได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ท้าทายในการใช้ชีวิตคู่อยู่เสมอมา เมื่อพิจารณาอย่างคร่าวๆ แล้วพบว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาในชีวิตคู่ "ต้องพยายามหาทางทําให้ปัญหาหยุดอยู่กับที่ ก่อนที่จะหาทางแก้ไขกันอย่างจริงจังต่อไป" ปัญหาจะหยุดได้ต้องพึงใส่ใจถึงหลัก 4 อย่า คือ


1. อย่าคุยกันตอนมีอารมณ์

          เราต้องยอมรับความจริงว่าหลายครั้งทีเดียว เมื่อมีปัญหาเข้ามาในชีวิตคู่จะมีอารมณ์ไล่หลังตามมาติดๆ เหมือนญาติสนิท
กันเลยทีเดียวไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็ก หรือปัญหาใหญ่ มีตั้งแต่อารมณ์โกรธอารมณ์เกลียด อารมณ์ชัง หรือแม้กระทั่งอารมณ์งอน
          เมื่อเกิดอารมณ์ คนรักก็มักจะลืมเหตุลืมผล ถ้าเอาอารมณ์เป็นใหญ่ เอาอารมณ์เป็นตัวตัดสินใจ ในปัญหานั้นๆ ผลลัพธ์ที่ออกมามักจะไม่ทําให้แก้ปัญหาได้ มีแต่จะเพิ่มปัญหาให้มากยิ่งขึ้น

          เคยมีตัวอย่างมากมายที่ "ความตาย" มาเยือนชีวิตคู่ เพราะพยายามพูดกันเพื่อแก้ปัญหาตอนมีอารมณ์ จากเรื่องเล็กๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดฆ่ากันตายมาแล้ว หลายคู่อย่าทําเป็นล้อเล่นไป

          การคุยกัน เพื่อแก้ปัญหาตอนมีอารมณ์ จะไม่มีทางแก้ปัญหาให้เสร็จสมอารมณ์หมายได้เลย เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งหมายที่จะ เอาชนะคะคานกัน มากกว่าหันหน้ามาแก้ปัญหา คําพูดคําจาที่ออกมา นอกจากจะไม่แก้ปัญหาแล้ว บางทียังทําให้เพิ่มปัญหามากขึ้นเสียด้วยซ้ำ

          ที่พบเห็นบ่อยๆ ของการพูดกันขณะที่อารมณ์ คือ มักจะ พูดแบบยียวนกวนประสาท ทั้งๆ ที่เวลาปกติธรรมดา ที่ไม่มีอารมณ์ จะเป็นคนที่ พูดจาไพเราะเสนาะโสตก็ตาม ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่มักจะเป็นแบบนี้ มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

          เวลาคนเรามีอารมณ์เรามักจะข่มใจตนเองไม่อยู่ และมักจะมองดูคู่สนทนาที่มีสถานภาพเป็น "คู่ชีวิต" ของเราแท้ๆ กลายเป็น "คู่อาฆาต" ไปได้เมื่อมองคู่สนทนาเป็นคู่อาฆาต ก็แทบประกาศ ผลล่วงหน้าได้เลยว่า จะมีแขกชื่อ "ความร้าวฉาน" มาเยือนถึงชานเรือนอย่างแน่นอน วันใดก็ตามที่ชีวิตคู่เกิดความร้าวฉาน มักจะยากที่จะประสานให้เป็นเนื้อเดียวกันได้เหมือนเดิม

          ในบางกรณีอาจจะมีการประสานกันได้ หลังจากใช้อารมณ์คุยกันเมื่อเกิดปัญหาไปในระยะหนึ่งแล้ว แต่เชื่อเถอะว่าจะเป็นการประสานที่ไม่สนิท มีสิทธิที่จะร้าว มีสิทธิที่จะแตก มีสิทธิที่จะแยกได้ง่าย

           ทางที่ดีที่สุด คือ ต้องหยุดคุยกันทันทีเมื่อมีอารมณ์ แน่นอนที่สุด อารมณ์ของทั้งสองฝ่ายคงไม่ได้เกิดพร้อมกันทันที ย่อมต้องมีใครมีอารมณ์ขึ้นมาก่อน ควรสอนใจตัวเองตลอดเวลาว่า เมื่อต้องสนทนาเพื่อแก้ปัญหากับคู่ชีวิตของเราแล้ว เขาหรือเธอเกิดมีอารมณ์ขึ้นมา อีกฝ่ายต้องระงับอารมณ์ อย่าให้มีขึ้นมาเหมือนกัน แต่ควรจะหันหลังให้แล้วไปทําธุระอื่นๆ สักระยะจนกว่าอารมณ์ที่กําลังพวยพุ่งของอีกฝ่ายจะหายไปก่อน ค่อยย้อนมาคุยกันใหม่


2. อย่าคุยกันแบบหูทวนลม

          เมื่อทั้งสองฝ่ายระงับอารมณ์กันได้แล้ว และพร้อมที่จะสนทนาเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน สิ่งสําคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งควรคิดคํานึงถึงตลอดเวลา คือ ท่าทีของการสนทนา ถึงแม้จะนั่งคุยกันแบบไม่มีอารมณ์แล้ว แต่ถ้าท่าทีของการสนทนาไม่ดี โอกาสที่จะแก้ปัญหา ก็ยากเย็นแสนเข็ญเหมือนกัน

          ท่าทีที่พึงระมัดระวัง คือ ท่าทีการสนทนาแบบหูทวนลม ตามปกติทั่วไปเมื่อคนเราคิดจะคุยกันก็ต้องพึงมีท่าที ที่เรียกว่า "รับฟังซึ่งกันและกัน" ไม่ใช่ฟังแบบขอไปที่ หรือฟังแบบมีท่าทีหูทวนลม ถ้าเป็นแบบนี้ก็คุยกันไม่ได้นาน และมักจะมีอาการพาลพาโลตามมา ในไม่ช้าก็จะมีอารมณ์ ตามมาอย่างแน่นอน เมื่อมีอารมณ์เมื่อไร ก็เหมือนอย่างที่บอกไปแล้วในข้อแรก ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จึงต้องพึงสังวรณ์ได้ตลอดเวลา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นให้นึกถึงคําว่า "อย่า" ที่นํามาฝากให้จงหนัก

          จงช่วยทําให้ปัญหาหนักกลายเป็นปัญหาเบา ช่วยให้ปัญหาเบากลายเป็นปัญหาบาง และเจือจางไปในที่สุด


3. อย่าตัดสินใจอะไรในทันที

          ตามธรรมดาเมื่อคนเราที่เคยจู๋จี๋กัน อย่างมีความสุขมาอาจจะสั้นบ้างยาวบ้างก็เถอะ เมื่อมีเรื่องเลอะเทอะเปรอะเปื้อนเข้ามาสู่ชีวิตคู่ ทุกคู่มักอยากให้ "ปัญหา" ที่ใครเป็นผู้ก่อขึ้นมาก็ตาม ไม่ลุกลามต่อไป จึงมักตัดสินใจในทันที ที่จะ "หยุดปัญหา" ด้วยหวังว่าปัญหาจะได้หมดๆ ไป หรือก็เพื่อจุดประสงค์ที่ว่า จะได้ลืมๆ กันไป

          แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราต้องยอมรับว่า "ปัญหายังไม่ได้หมดไป" ปัญหายังดํารงอยู่ เพียงแต่ว่ามันอาจจะซุกอยู่ใต้พรม และมีแนวโน้มจะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรายังพึงพอใจกับการตัดสินใจในทันที เพื่อที่จะหยุดปัญหาแบบนี้ ทางที่ดีควรหาทางแก้ปัญหา ด้วยการจับเข่าคุยกันแบบ "ไม่มีอารมณ์" และ "ไม่มีท่าทีแบบหูทวนลม"

          นอกจากนี้ ก็ไม่ควรตัดสินใจอะไรในทันที ถึงแม้จะนั่งจับเข่าคุยกันนานแสนนาน แต่ก็ยังไม่พานพบ "ทางออก" การตัดสินใจทันทีเมื่อเกิดปัญหาในชีวิตคู่แล้ว หาทางออกไม่ได้ มักตามมาด้วยการ

         หลุดวาจาคําว่า "หย่าร้าง" หรือ "แยกทางกัน" ออกมา เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหลุดคํานี้ออกมาเมื่อไร ถึงจะพูดด้วยท่าทีธรรมดาๆ แค่ไหน ก็มักจะแฝงความรู้สึกว่าถูก "ท้าทาย" จากอีกฝ่ายอย่างช่วยไม่ได้ จึงไม่ควรตัดสินใจทันทีที่จะพูดคําว่า "หย่า" ออกมา เมื่อชีวิตคู่มีปัญหาแล้วหาทางออกไม่ได้  ทางที่ดีควรมีเวลาคุยกันมากขึ้นอีกหลายๆ ครั้ง ถ้าไม่มีอคติในจิตใจกันจนเกินไป จะพบว่า การคุยกันครั้งต่อๆ มา สถานการณ์จะแตกต่างกว่า การคุยกันครั้งแรก และแนวโน้มโดยทั่วไป สถานการณ์การคุยกันครั้งต่อๆ มา น่าจะมีบรรยากาศ ที่ดีกว่าการคุยกันครั้งแรก และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย ที่เรามักจะหาทางออกได้ในที่สุด

          ในทางกลับกันเมื่อคุยกันแล้ว เกิดหาทางออกได้ ก็อย่าเพิ่งตัดสินใจทันทีถึง "ทางออก" ที่หาได้ในขณะนั้น เพราะมันอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดก็ได้ ควรทอดเวลาของการตัดสินใจออกไปสักระยะเวลาหนึ่ง จึงค่อยตัดสินใจในความเป็นจริงของชีวิตจะพบว่า เมื่อทอดเวลาออกมาสักระยะหนึ่งจึงตัดสินใจ เรามักจะพบการตัดสินใจที่ดีกว่าเสมอ 

          เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ แล้ว "อย่าตัดสินใจอะไรทันที" เมื่อมีปัญหาในชีวิตคู่


4. อย่าคิดถึงตัวเองมากเกินไป

          โดยปกติธรรมดา เมื่อคนเรามีปัญหาขึ้นมา ก็มักจะคิดถึงแต่แง่มุมของตนเอง คิดถึงแต่เหตุผล ที่เข้าข้างตนเอง คิดถึงแต่ความถูกต้องของตนเป็นทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ลองนึกถึงอกเขาอกเรา ถ้าอีกฝ่ายไม่ยอมฟังเหตุผลของเราบ้างเลย เราจะยอมไหม เราก็คงไม่ยอม ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อคิดจะหาทางออกร่วมกัน จากปัญหาในชีวิตคู่ที่เกิดขึ้น ต้องมีจุดยืนอยู่ที่ว่า "อย่าคิดถึงตัวเองมากเกินไป"

          ในอีกมิติหนึ่งของ "อย่าที่ 4" นี้ นอกจากจะต้องคิดถึงอีกฝ่ายที่เป็นคู่ชีวิตเราไปพร้อมๆ กับการคิดถึงตัวเองแล้ว ก็อยากฝากเป็นข้อคิดไว้ อีกนิดหนึ่งสําหรับชีวิตคู่ที่มี "ลูก" อยู่ด้วยว่า "อย่าคิดถึงตัวเองสองคนที่เป็นคู่กรณีมากเกินไป ให้คิดถึงลูกด้วย" เพราะการตัดสินใจใดๆ ของเราย่อมเข้าไปมีส่วน เป็นผลกระทบต่อลูกบ้างไม่มากก็น้อย เมื่อทั้งคู่หันมาคิดถึงลูกเมื่อเกิดปัญหาชีวิตคู่ อะไรๆ ก็อาจจะดูง่ายเข้าต่อการแก้ปัญหา

          ลองคิดเพียงง่ายๆ ว่า เราเป็นผู้สร้างปัญหา แต่ลูกต้องมามีผลกระทบรับกรรมไปด้วย มันถูกหรือไม่ ลองใช้วิจารณญาณพิจารณาดู ก็น่าจะรู้ได้ดี


          ทั้ง 4 อย่าเมื่อเกิดปัญหาในชีวิตคู่ที่จาระไนมานี้ คงมีประโยชน์บ้างตามสมควรแก่กรณี สําหรับผู้ที่อยากแก้ปัญหา แต่ถ้าไม่อยากแก้ปัญหา ก็ทําตรงข้ามทุกอย่าง รับรองต้องได้ "หย่า" กันแน่นอน


คัดลอกจาก  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ ที่ 29 ตุลาคม และ วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2542