Accessibility help

เมนูหลัก

ผู้เชี่ยวชาญแนะเทคนิคเป็นพันธมิตรกับลูก

ผู้เชี่ยวชาญแนะเทคนิคเป็นพันธมิตรกับลูก


เชื่อว่า พ่อแม่ทุกคนรักลูก และอยากเป็นที่รักของลูก แต่บางครั้งเราอาจลืมตัว และแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมจนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่ารักสำหรับลูก เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจทำให้ช่องว่างทางความสัมพันธ์ค่อยๆ ขยายวงกว้างออกไปได้  

          เรื่องนี้ ดร.วรนาถ รักสกุลไทย หรือ ครูหนู ผู้อำนวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนเกษมพิทยา ในฐานะนักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัย บอกว่า การเป็นพันธมิตร หรือผู้ใหญ่ที่น่าเคารพรักในสายตาของลูกนั้น สามารถทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้ลูกมีความเชื่อมั่น และศรัทธาในตัวพ่อแม่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีตามมา

          “พ่อแม่สามารถสร้างความน่ารักให้เกิดในใจลูกได้ตั้งแต่เล็กๆ เช่น เวลาลูกร้องไห้ แทนที่จะหงุดหงิด ลองเปลี่ยนโหมดด้วยการเข้าไปอุ้มแล้วสื่อสารกับลูกด้วยท่าทีที่นิ่มนวลดูว่า หนูเป็นอะไรจ้ะ เพราะการที่เด็กร้องไห้ บางทีอาจปวดท้อง หิวข้าว หรือเหงา ต้องการให้คนมาอุ้ม ซึ่งพ่อแม่ต้องเข้าใจด้วยว่า เด็กไม่ได้แกล้ง หรือตั้งใจจะทำให้เรารำคาญแต่อย่างใด พอโตขึ้นมาหน่อย เด็กเริ่มมีภาษาแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาถูกรักผ่านการแสดงออกได้หลายทาง เช่น คำพูด การกระทำ ซึ่งอย่างหลังสำคัญมาก พอลูกโตในวัยประถม พ่อแม่หลายๆ ท่านอาจรู้สึกว่าลูกห่างออกไป แต่การใกล้ชิดที่มีพื้นฐานมาตั้งแต่ก่อนเข้า ป.1 จะช่วยให้ลูกรู้สึกดี และเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย” นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยแนะ

          ด้านวิธีการเลี้ยงดู ครูหนูบอกว่า มีบางเรื่องที่พ่อแม่ควรระวัง เพราะไม่เช่นนั้นอาจสร้างความรู้สึกไม่ดีให้เกิดขึ้นในใจลูกได้ เริ่มจาก

          - อย่าทำให้การดุลูกของพ่อแม่เป็นการบ่นจนน่ารำคาญ แต่ควรพูดคุยด้วยเหตุด้วยผล ไม่ควรใช้อารมณ์ในการพูดคุยกับลูก

          - อย่าพูดคำว่า “พ่อ/แม่ไม่รักแล้ว” เพราะการพูดว่าไม่รักบ่อยๆ เด็กอาจไม่ทำตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ หรือคุณครูบอก เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่เขาจะทำในเมื่อคุณพ่อคุณแม่เคยบอกว่าไม่รักเขาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรระวังเป็นอย่างยิ่ง

          - อย่าดูถูกความสามารถของลูก แต่ควรเชื่อว่าลูกสามารถทำสิ่งต่างๆ ออกมาได้ดี แล้วเด็กจะมีความรู้สึกที่ดีกับตัวเอง รวมไปถึงพ่อแม่ที่เห็นคุณค่าในตัวเขาด้วย และเมื่อโตขึ้น เขาก็จะต่อยอดความรู้สึกดีๆ เหล่านี้ไปให้คนอื่นๆ ในสังคมต่อไป

          นอกเหนือจากนี้แล้ว หากลูกพฤติกรรมที่ดี ควรชมทันที เช่น พูดไปเลยว่า “แม่ดีใจที่หนูช่วยแม่เก็บกวาดบ้าน หนูเป็นเด็กดีที่รู้จักช่วยงานแม่” แต่ถ้าพูดแค่ว่า “หนูเป็นเด็กดี แม่รักหนูจังเลย” เด็กก็ไม่รู้ว่าที่แม่ชมเพราะอะไร เป็นต้น

          ท้ายนี้ ครูหนูสะกิดใจพ่อแม่ไว้อย่างน่าสนใจว่า อย่าให้ความเหนื่อยจากการทำงาน มาทำร้ายความรักและความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อลูก

          “พ่อแม่หลายๆ คน มีความสุขเวลาได้อยู่กับลูกอยู่แล้ว แต่บางครั้งตัวพ่อแม่เองอาจเหนื่อยจากการทำงาน ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เราเหนื่อย อยากบอกกับพ่อแม่ทุกๆ ท่าน ว่า ลองบอกกับลูกไปตรงๆ ว่า วันนี้แม่เหนื่อยจากการทำงาน ขอแม่อยู่คนเดียวสักครู่นะลูก แม่ขอเวลา 15 นาทีแล้วแม่จะเล่นกับหนูนะจ้ะ ดีกว่าไปใส่อารมณ์กับลูก ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งกับตัวเราและลูก แต่วิธีดังกล่าวนี้ เราก็ต้องระวังด้วย เพราะลูกโตขึ้นทุกๆ วัน การใช้ข้ออ้างแบบนี้กับลูกต่อไปเรื่อยๆ เราก็ต้องกลับมาคิดว่า แล้วลูกล่ะ ใคร ดังนั้น ถ้าอยากเป็นผู้ใหญ่ที่ลูกเคารพรัก เราก็ต้องให้ความรัก และใส่ใจเขาตั้งแต่เล็กๆ” ครูหนูทิ้งท้าย


ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ