Accessibility help

เมนูหลัก

ไปค่าย "กินเป็น อยู่เป็น ดูแลพ่อแม่เป็น" กันเถอะ

ไปค่าย "กินเป็น อยู่เป็น ดูแลพ่อแม่เป็น" กันเถอะ

 
กินเป็น อยู่เป็น ดูแลพ่อแม่เป็น
เอาหลักธรรมชาติมาดูแลตนเองและครอบครัว
ฐาณิชชา ลิ้มพานิช-สัมภาษณ์   ธนากร  คมกฤส-เรียบเรียง

 
 
            เป็นเวลา 20 ปีมาแล้วที่  “พี่นี-เพียงพร  ลาภคล้อยมา” หันเหชีวิตตัวเองมาดำเนินตามหลักธรรมชาติกับการเยียวยา    หลังจากได้เข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกในรังไข่และมดลูก เธอจึงหันมาศึกษาเรียนรู้หลักธรรมชาติบำบัดตามแนวแพทย์ทางเลือก
“พี่เรียนจบกฎหมาย แต่พอถึงช่วงหนึ่งชีวิตเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ก็หันกลับมาดูว่ากฎหมายมันเปลี่ยนเป็นกฎธรรมชาติได้ไหม  ก็เลยเริ่มมาเรียนรู้ว่าธรรมชาติของความเจ็บป่วยมันเป็นอย่างไร  เริ่มหันมาดูแลตัวเองตามกฎของธรรมชาติว่า ธรรมชาติของร่างกายเราเป็นอย่างไร ก็ค่อยๆสืบค้นเข้าไปในตัวเองเรื่อยๆ  หลังจากหมอได้ตัดเนื้องอกที่มดลูกทิ้งให้แล้ว  ก็เริ่มหัดมาดูแลตัวเองว่า เราจะต้องทำอย่างไรไม่ให้มันกลับมาเป็นอย่างนั้นอีก”
“ตอนป่วยเราก็ถามหมอไปตรงๆว่าเพราะอะไรเราจึงเป็นเนื้องอกที่นี่ หมอก็สืบค้นว่าเรากินอะไรบ้าง  เราใช้ชีวิตแบบไหน  พอฟังแล้วหมอก็บอกว่าถ้าไม่เปลี่ยนก็จะมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีก  เพราะคำว่า “ถ้าไม่เปลี่ยน”  มันคือจุดที่เราต้องเปลี่ยน  จริงอยู่ว่ามันอาจจะไม่ใช่เนื้อร้าย แต่วันข้างหน้าไม่แน่มันอาจจะเป็นเนื้อร้ายก็ได้    ถ้าอย่างนั้นจะเปลี่ยนอย่างไร  หมอก็แนะนำอาหารที่จะรับประทานว่า ให้เว้นอะไรบ้าง ของปิ้งๆไหม้ๆ ของทอดทั้งหลาย ให้ออกจากชีวิต และให้เพิ่มอาหารที่มีกากใยมากขึ้นก็คือผัก ผลไม้ และก็เปลี่ยนจากข้าวขาว เป็นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ  ช่วงที่เปลี่ยนใหม่ๆนี่ไม่กินเนื้อสัตว์เลย  กินแต่ผักและผลไม้”
เธอใช้เวลาร่วม 10 ปีในการศึกษาเรียนรู้หลักธรรมชาติบำบัด นับแต่การเรียนรู้หลักอาหารกับการปฏิบัติธรรม  การใช้อาหารเพื่อความปลอดภัยทางกายและจิต  จนถึงการเข้ารับการอบรมธรรมชาติบำบัดที่อินเดีย เป็นเวลาร่วม 1 ปี และดูงานการดูแลผู้ป่วยด้วยอาหารเป็นเวลาอีก 2 เดือน
“หลักธรรมชาติกับการเยียวยาคือการกลับไปหาพุทธธรรมดั้งเดิม พุทธศาสนาสอนเรื่องหลักเหตุและผลว่า เรากินอะไรเข้าไปร่างกายก็จะเป็นอย่างนั้น เรากินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อนร่างกายก็ร้อน กินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นร่างกายก็เย็น  ถ้าเย็นมากไปก็ป่วย ร้อนมากไปก็ป่วย ทำอย่างไรให้สมดุล    ฉะนั้น เราต้องเลือกอาหารที่จะกิน  โดยต้องใช้สติพิจารณาแยกแยะ เลือกสิ่งซึ่งควรจะมีแก่กาย   แค่กินอาหารอย่างเดียวเราก็จะได้ปฏิบัติธรรมไปด้วย เพราะเราต้องสังเกตว่าเรากินอาหารทำร้ายตัวเองหรือเปล่า   แต่ไม่ต้องมุ่งมั่นทำจนถึงขนาดตึงเครียดเกินไป ขอให้สนุกสนานกับการทำการกินว่าตอนนี้เรากำลังกินอะไรแล้วมันมีผลอะไรกับร่างกายเรา  พอเราคิดอย่างนี้ มันจะเพิ่มคุณค่าของการเยียวยาด้วย  เพราะใจเราจะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กิน  แล้วเราก็จะขอบคุณเค้าที่มาช่วยสร้างร่างกายเรา ดีกว่ากินไปคุยไปแล้วก็ไม่รู้ว่ากินอะไรไปทำไม เพราะการที่มี “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” เมื่อจิตรับรู้จิตก็จะช่วยกาย เป็นวิถีพุทธง่ายๆที่เราเอามาใช้ชีวิตได้เลย”
ปัจจุบัน พี่นี ผันตัวเองมาเป็นวิทยากรอาสาจัดกระบวนการเรียนรู้หลักสูตร “ธรรมชาติกับการเยียวยา”
“ธรรมชาติทั้งหมดเกื้อกูลเรา  แต่เราต้องเรียนรู้ก่อนว่าธรรมชาติภายในของตัวเราเป็นอย่างไร และธรรมชาติภายนอกจะเยียวยาข้างในเราอย่างไร  เราก็ต้องรู้ข้างในก่อนแล้วเชื่อมโยงข้างในกับข้างนอกให้สมดุลกัน”
“ค่ายธรรมชาติกับการเยียวยาใช้เวลาสัก 2 วัน 1 คืน เริ่มจากการเรียนรู้ตัวเองก่อน เพื่อให้รู้จักตัวเองมากขึ้น คนเราถ้ารู้จักตัวเองแล้วจะรู้จักที่จะรักตัวเอง เมื่อรักตัวเองได้ก็รักคนอื่นเป็น พอรักคนอื่นเป็นสังคมก็จะสงบขึ้น ไม่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง มีอะไรไม่ถูกใจต้องจัดการสิ่งนั้นสิ่งนี้   ทั้งๆที่สิ่งที่เราต้องจัดการก่อนคือตัวเอง พอเราจัดการตัวเราเองได้ เราก็จะจัดการคนอื่นง่ายมาก เพราะการจัดการที่ยากที่สุดคือการจัดการตัวเราเอง ถ้าจัดการตัวเองยังไม่ได้ ก็อย่าคิดไปจัดการคนอื่น”
“กิจกรรมเรียนรู้ในค่าย เริ่มต้นตื่นเช้าขึ้นมา เราจะทำความเข้าใจลมหายใจของตัวเองว่าขณะนี้เราปกติดีไหม หายใจสั้นหายใจยาวมากเกินไปหรือเปล่า  เราเกิดมานานหลายปี แต่อาจจะมีบางมุมที่เรายังไม่รู้จักตัวเองเลยก็ได้ หลายคนที่เคยมาค่ายบอกว่าไม่คิดเลยว่าเขาหายใจผิดมาตลอดชีวิต เพิ่งรู้ว่าการหายใจที่ถูกมันเป็นอย่างไร   เสร็จแล้วเราก็จะดื่มน้ำ  ดื่มอย่างมีสติให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อร่างกาย  จากนั้นทำโยคะเบาๆ ง่ายๆ  ไม่เน้นลีลายาก เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติได้   แล้วก็อาบแดด   นอนแช่หลัง  และทานอาหาร  เราจะได้เรียนรู้ว่าอาหารที่ปลอดภัยเป็นอย่างไร   การเลือกอาหารให้ถูกกับตัวเรา มาดูกันว่าเราจะกินอาหารอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากธรรมชาติ  การกิน การเคี้ยว การกลืน   และอื่นๆเหล่านี้คือการจัดการชีวิตตัวเองทั้งนั้น เพราะไม่มีใครสั่งให้เราเคี้ยวอาหารได้ สั่งให้กลืนก็ไม่ได้  เราต้องฝึกแล้วปรับเปลี่ยน จากความคุ้นชินเดิมๆและเรียนรู้สิ่งใหม่  หากจะให้ธรรมชาติเยียวยาเรา เราใช้เขาถูกหลักหรือเปล่า?”    
กระบวนการผลิตอาหารทั้งหมดนี้  ครอบครัวควรทำด้วยตัวเอง  ทำด้วยความรู้สึกว่าอยากดูแลคนของครอบครัว  ดูแลพ่อ ดูแลแม่ ดูแลลูก  ฉะนั้น คนที่ทำอาหาร คือ ผู้เยียวยาคนในบ้าน  ครัวจึงถือเป็นโรงสร้างสุขภาพของบ้าน    
“ค่ายที่มาเป็นครอบครัว เราจะมีช่วงเวลาที่จะได้เรียนรู้กันว่าชีวิตเกิดขึ้นมาได้อย่างไร พ่อคือผู้ให้ชีวิต ท่านให้เราอย่างไร แม่คือผู้ให้จิตวิญญาณ ท่านให้เราอย่างไร และเรารับมาอย่างไร รับมาหมดหรือไม่     นี้คือความเชื่อมโยงระหว่างแม่ลูกพ่อ   คนที่เข้าใจตรงนี้แล้วยากนักที่จะทำตัวเหลวไหล   การที่เข้าใจลึกซึ้งเชื่อมโยงถึงแหล่งกำเนิดตัวเอง จะทำให้รู้คุณค่าของชีวิต  และอยากถนอมรักษาชีวิตตัวเองไว้  อยากถนอมรักษาชีวิตคนในครอบครัว”   
 
“มีคำพูดว่า เราจะมีเวลาเสมอสำหรับสิ่งที่เราเห็นว่าสิ่งนั้นคุณค่า   ถ้าเราพกคำนี้ไว้ติดตัวไว้  เราจะจัดการชีวิตได้ง่ายขึ้น เพราะพอเราเห็นชีวิตเรามีค่า เราก็อยากที่จะดูแล และไม่ใช่อยากดูแลแค่ตัวเรา เรารักตัวเราและเป็นมิตรกับตัวเองได้แล้ว เราก็อยากเป็นมิตรกับคนอื่นด้วย คนอื่นก็คือคนที่อยู่ในครอบครัว เราจะเป็นมิตรกับเขาอย่างไร เช่น ลูกไม่สบาย แม่จะต้องเตรียมอาหารอย่างไรที่จะทำให้ลูกคลายจากความไม่สบายตรงนั้น ไม่ใช่โยนภาระไปให้หมอ มือแม่คือมือหมอคนแรก และเด็กจะศรัทธาตัวเราว่า พ่อแม่ฉันพึ่งพาได้” พี่นีกล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

ขอเชิญครอบครัวที่สนใจเข้าร่วม ค่ายครอบครัวร่วมเรียนรู้ ธรรมชาติกับการเยียวยา “กินเป็นอยู่เป็น ดูแลพ่อแม่เป็น”
วันเสาร์-อาทิตย์ที่  29-30  มีนาคม  2557 ณ  บ้านเรือนตะวัน  โฮมสเตย์  ศาลายา  นครปฐม
สนใจสอบถามรายละเอียดและสมัครได้ที่มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว   0-29542346-7, 089-771-9428 (เมย์),081-5605494 (แอร์)
ชื่อบัญชี มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ธนาคารกสิกรไทย  บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 039-2-43024-5

 

 
 
 
 
 
 

 

 
 

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

  • ที่อยู่เว็บและอีเมลจะเปลี่ยนเป็นลิงก์ให้อัตโนมัติ
  • Allowed HTML tags: <a> <em> <strong> <cite> <code> <ul> <ol> <li> <dl> <dt> <dd>
  • ขึ้นบรรทัดและจัดย่อหน้าให้อัตโนมัติ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งค่ารูปแบบอินพุต